ส่งออกไทยเดือนมี.ค. สูงสุดในรอบ 30 ปี ขยายตัวร้อยละ 19.5

26 เมษายน 2565, 16:45น.


           การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมี.ค. 65 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงว่า การส่งออกขยายตัวร้อยละ 19.5  ที่มูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่การนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 18.0 ที่มูลค่า 27,400.6 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้เดือนมี.ค. ไทยเกินดุลการค้า 1,459.1 ล้านเหรียญฯ



          สำหรับการส่งออกช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 65) ขยายตัวได้ ร้อยละ 14.9 คิดเป็นมูลค่ารวม 73,601.4 ล้านเหรียญฯ ส่วนการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 18.4 คิดเป็นมูลค่ารวม 74,545 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 944 ล้านเหรียญฯ



         โดยการส่งออกสินค้าในเดือนมี.ค. ขยายตัวทุกหมวด ดังนี้ 1. หมวดสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.3 มูลค่า 2,168 ล้านเหรียญฯ ซึ่งในส่วนของสินค้าข้าว ขยายตัว ร้อยละ 53.9 ซึ่งการส่งออกข้าวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยคาดว่าทั้งปีนี้ มีโอกาสจะส่งออกข้าวได้ปริมาณมากถึง 8 ล้านตัน จากปีก่อนที่ส่งออกข้าวได้ 6.1 ล้านตัน 2.หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัว ร้อยละ  27.7  มูลค่า 2,163 ล้านเหรียญฯ 3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว ร้อยละ 20.6มูลค่า 23,634 ล้านเหรียญฯ



          โดยตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ดังนี้



1. สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวถึงร้อยละ 2,864.7



2. เอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 36.4



3.อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 34.8



4. ตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 29.5



5. สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 21.5



6. สหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 14.5



7. เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 14.5



8. ไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 9.4



9. แคนาดา ขยายตัวร้อยละ 9.2



10. สหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 6.9



          ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับหนุนตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นในภาพรวม มาจาก



1. การส่งเสริมผ่านนโยบาย Soft Power ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดัน 4 กลุ่มสินค้าสำคัญ คือ อาหาร ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าที่มีจุดขายเป็นอัตลักษณ์ของไทย โดยในครึ่งปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64 - มี.ค.65) กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้าน Soft Power ไปแล้วทั้งอบรมให้ความรู้และช่วยเหลือให้การส่งออกบรรลุผล จำนวน 1,878 ราย



2. จัดทำมาตรการเชิงรุกด้านการบริหารจัดการผลไม้ มีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกในภาพรวมเป็นบวก ทั้งการส่งออกทางอากาศ การส่งออกทางเรือที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งการส่งออกทางบก โดยเฉพาะตลาดจีนซึ่งมีการเจรจากับด่านต่างๆ ใน 4 ด่านหลัก คือ ด่านโม่ฮาน ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านผิงเสียง และด่านตงซิง



3. การผลักดันการค้าชายแดน ซึ่งได้เร่งรัดการเปิดด่านมาโดยตลอด และล่าสุดจะยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คาดว่าจะมีส่วนช่วยทำให้มูลค่าการค้าชายแดนไทยเมียนมาเพิ่มมากขึ้นได้



4. ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัวได้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 โดยเฉพาะดัชนี PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อาเซียน



5. อัตราค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรปเริ่มลดลง ในขณะที่บางเส้นทางไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น



6. เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น



          นายจุรินทร์ ยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ มีโอกาสจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4-5



          ส่วนการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเตรียมรับมือกับการที่รัฐบาลจะยกเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล นายจุรินทร์ ยอมรับว่า ราคาน้ำมันมีผลต่อราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พยายามกำกับดูแลราคาให้มีความสมดุลกันมากที่สุด ทั้งจากฝั่งของโรงงานผู้ผลิต มาสู่ราคาขายปลีกที่ถึงมือผู้บริโภค พยายามให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีกำไรน้อยที่สุดเท่าที่ธุรกิจจะพอรับได้ และไม่หยุดการผลิต โดยกระทรวงพลังงานดูแลเรื่องน้ำมัน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ เป็นปลายทางที่จะต้องบริหารจัดการให้ประชาชนรับภาระน้อยที่สุด ภายใต้ต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น



 



 



#ส่งออกมีนาคม



#กระทรวงพาณิชย์



 

ข่าวทั้งหมด

X