ผลวิจัยสหรัฐฯ พบสมาชิกในบ้านที่มีคนป่วยหนักจากโควิด-19 มีภาวะเครียด 63%

26 เมษายน 2565, 16:45น.


          ดร.ทิโมธี อแมส นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด สหรัฐฯ วิจัยเรื่องโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง(PTSD) ศึกษาจากกลุ่มประชากร 330 คน ซึ่งเป็นคนจากครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านป่วยสาหัสจากโรคโควิด-19 จนถึงขั้นใช้เครื่องช่วยหายใจในห้องไอซียูของโรงพยาบาล รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลต่างๆ 12 แห่งในรัฐโคโลราโด, หลุยเซียนา,นิวยอร์กและรัฐแมสซาชูเซตส์ ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคมปีที่แล้ว เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการแพทย์ชื่อ จามา อินเตอร์นัล เมดิซีน ทีมวิจัย พบว่า ร้อยละ 63 ของกลุ่มประชากรที่ทำการวิจัย หรือ 201 คน มีภาวะเครียดจากโรค PTSD อย่างชัดเจนราว 3-6 เดือน หลังจากญาติป่วยหนัก นับเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับคนที่มีภาวะเครียดจากโรค PTSD ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ เพียงร้อยละ 30



           ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด ระบุว่า ผลวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่โรงพยาบาลต่างๆห้ามญาติเข้าเยี่ยมผู้ป่วยสาหัสอาจจะทำให้เกิดผลกระทบโดยอ้อมคือ ทำให้ญาติของคนไข้พลอยมีภาวะเครียดทางจิตใจ หรือเกิดโรค PTSD ด้วย ในเบื้องต้น ทีมวิจัยเสนอแนะให้บุคลากรทางการแพทย์แสดงความเห็นใจ และความเอื้ออาทรกับญาติของผู้ป่วยหนักด้วย แม้การแสดงน้ำใจเพียงเล็กๆน้อยๆก็จะช่วยลดความเครียดให้กับบรรดาญาติของผู้ป่วย พร้อมเสนอแนะให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติม เพื่อดูว่าคนไข้จะมีภาวะเครียดจากโรค PTSD นานกี่เดือน จึงหายป่วย และมีคนไข้ PTSD กี่คนที่อาจจะต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์



 



#สหรัฐฯ



#ภาวะเครียดจากโควิด

ข่าวทั้งหมด

X