เตรียมรับมือ 28 เม.ย.นี้ อินโดนีเซียระงับส่งออกน้ำมันปาล์ม กระทบราคาน้ำมันพืชทั่วโลก

25 เมษายน 2565, 22:18น.


          ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม คาดการณ์ว่า คำสั่งระงับส่งออกน้ำมันปาล์มที่อินโดนีเซียประกาศเมื่อวันที่ 22 เมษายนว่าจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายนเป็นต้นไป จะทำให้ราคาน้ำมันพืชทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา โดยจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อผู้บริโภคในทวีปเอเชียและแอฟริกาที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันและอาหารปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว



          นายเจมส์ ฟราย ประธานของแอลเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและธุรกิจการเกษตรชั้นนำของโลกมองว่า คำสั่งระงับส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียไม่เพียงส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดโลกเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อปริมาณน้ำมันพืชทั่วโลกด้วย เพราะการส่งออกน้ำมันพืชอื่น ๆ ก็มีปริมาณลดลงจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาภัยแล้งในแอฟริกาใต้ที่ส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง ปัญหาสภาพอากาศเลวร้ายในแคนาดาที่ส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันคาโนลา และปัญหาขาดแคลนน้ำมันดอกทานตะวันจากภาวะสงครามในยูเครน



          ปัจจุบัน ทั่วโลกใช้น้ำมันปาล์มคิดเป็นร้อยละ 60 ของน้ำมันพืชทั้งหมด อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันพืชรายใหญ่ของโลกคิดเป็นร้อยละ 30 ของการส่งออกน้ำมันพืชทั้งหมด เหตุผลที่ประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อรับมือกับปัญหาราคาสินค้าแพงในประเทศ



          ในขณะนี้ ราคาน้ำมันพืชทั่วโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 ในช่วง 6 เดือนนี้ สาเหตุจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในมาเลเซียไปจนถึงปัญหาภัยแล้งในอาร์เจนตินา ผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลก และแคนาดา ผู้ส่งออกน้ำมันคาโนลารายใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงปัญหาสงครามในยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายสำคัญของโลก ที่ทำให้ยูเครนต้องหยุดส่งออกน้ำมัน



          สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยราคาน้ำมันปาล์มส่งมอบล่วงหน้าเดือน ก.ค.พุ่งขึ้น 6% สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 6,738 ริงกิต (1,550 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อตัน โดยอินโดนีเซียมีสัดส่วนเกือบ 60% ของอุปทานน้ำมันปาล์มทั่วโลก โดยหลายประเทศรวมถึงอินเดียต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันปาล์มเป็นทางเลือกที่ถูกกว่าน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน



         ล่าสุด เจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย แจ้งต่อบริษัทน้ำมันปาล์มว่า คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มที่มีการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมีผลบังคับใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน ซึ่งได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ (RBD olein) เท่านั้น แต่จะไม่รวมถึงการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ



         ข้อมูลจากสมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย (GAPKI) ระบุว่า อินโดนีเซียส่งออกน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจำนวน 25.7 ล้านตันในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วน 75% ของการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมด และส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 2.74 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.98%



 



 



 



 



#งดส่งออกปาล์มน้ำมัน



#อินโดนีเซีย 

ข่าวทั้งหมด

X