สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ต้องรออย่างน้อย 1 สัปดาห์ที่คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต และเริ่มตรวจมากขึ้น เพราะไปมีความเสี่ยงและมีความกังวล ส่วนผู้เสียชีวิตขณะนี้สังเกตว่า ผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิตเยอะมาก ซึ่งมีข้อสมมติฐานหนึ่งคือ ผู้ที่จะไปล้างไตต้องฉีดวัคซีนก่อน หากไม่ฉีดก็ต้องตรวจ ATK ว่า ไม่ติดเชื้อ ซึ่งกระบวนการอาจยุ่งยาก ทำให้การไปรับบริการล้างไตน้อยลง แล้วทำให้อาการตนเองหนักขึ้นได้ อีกเรื่องคือผู้ป่วยไต แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่อาจสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อย จากการตรวจสอบกลุ่มผู้เสียชีวิตทั้งที่เป็นโรคไตและไม่เป็นโรคไต พบว่า การฉีดวัคซีนพอๆ กัน คือ ฉีด 30กว่า% และไม่ฉีด 60กว่า% จึงอาจต้องหาแอนติบอดี มาฉีดแทนหากติดเชื้อหรือก่อนติดเชื้อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนัก
เช่นเดียวกับ ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตระลอกนี้แตกต่างจากระลอกที่แล้ว คือ สายพันธุ์เดลตา เชื้อจะลงมาถึงปอดทำให้ปอดอักเสบค่อนข้างหนักเลย แต่ระลอกนี้ส่วนใหญ่ป่วยจากโรคประจำตัวก่อน ก่อนจะพบการติดเชื้อ เริ่มมีอาการปอดอักเสบ ทำให้การเสียชีวิตค่อนข้างเร็ว เนื่องจากไปรักษาโรคอื่น เมื่อรู้ว่าติดเชื้อ พร้อมๆ กับโรคเก่ายังไม่ทันจะดี อาจทำให้เสียชีวิต เราเจอเหตุการณ์อย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนการสุ่มตรวจดูว่าใครติดเชื้อมากน้อยแค่ไหนในประเทศไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ปกติจะตรวจจากภูมิคุ้มกัน แต่มีการฉีดวัคซีนด้วย การตรวจภูมิคุ้มกันจึงไม่สามารถบอกได้ แต่มีเทคนิคในการตรวจสอบ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ แต่ข้อมูลยังไม่ออกมาว่า ติดไปกี่เปอร์เซ็นต์ เบื้องต้นคร่าวๆ น่าจะติดเชื้อในประเทศไทยแล้ว 10% จากประชากร 60-70 ล้านคน หากรวมคนฉีดวัคซีนไปด้วย นับในกลุ่มฉีดเข็ม 3 เป็นหลัก เหมือนว่าประชากรเรามีภูมิคุ้มกันไม่เยอะมาก อาจจะมีสัก 50% เราต้องการสัก 80% จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนบูสต์เตอร์ โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มสูงวัยที่เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต หน่วยงานต่างๆ ต้องช่วยกัน
#โควิด19
#คลัสเตอร์สงกรานต์