ดร.เอมี ภัตต์ (Ami Bhatt) อาจารย์สาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เผยแพร่ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ชื่อเมด (Med) ระบุว่า คนไข้โควิด-19 บางคนอาจจะยังมีเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 หรือไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ติดค้างอยู่ในอุจจาระนานหลายเดือน หลังหายป่วยแล้ว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลว่าการที่ไวรัสติดค้างอยู่นานเช่นนี้อาจจะส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันโรค และเป็นสาเหตุของภาวะลองโควิด
จากการวิจัยโดยศึกษาเชื้อไวรัสจากอุจจาระของผู้ป่วย 113 คน นักวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า ส่วนใหญ่ร่างกายของผู้ป่วยจะขับเชื้อไวรัสออกจากร่างกาย ในหนึ่งสัปดาห์ หลังหายป่วย แต่ปรากฏว่า ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 4 ยังมีเชื้อไวรัสติดค้างอยู่ในอุจจาระนานถึง 7 เดือนหลังหายป่วย ซึ่งนักวิจัยได้เชื่อมโยงปัญหานี้กับความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ระบุว่า ไวรัสอาจจะมีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นจุดที่มีเชื้อไวรัสหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย อีกทั้งอาจจะเป็นสาเหตุของภาวะป่วยลองโควิดสำหรับผู้ป่วยบางคน นอกจากนั้นเชื้อไวรัสที่ติดค้างอยู่ในร่างกายอาจจะโจมตีเซลล์ ทำลายเนื้อเยื่อ หรือ ผลิตโปรตีนมาทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วย
#สหรัฐฯ
#พบเชื้อไวรัสโควิดในอุจจาระ