ห่วงติดเชื้อคลัสเตอร์-ภาวะLong Covid นายกฯสั่งรับมือหลังสงกรานต์

16 เมษายน 2565, 12:05น.


          นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรองรับหากเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 หลังสงกรานต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มคู่สายด่วน 1330 รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงหลังสงกรานต์ ขอให้ประชาชนคอยสังเกตอาการหลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ 7-10 วัน หากมีอาการ เช่น ไอ มีน้ำมูก ไข้สูง 37.5 องศาเซลเชียส ควรรีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและหากมีอาการหรือมีความเสี่ยงให้ตรวจด้วย ATK ทันที



        ส่วนการเดินทางขากลับ นายกฯ ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งตำรวจ ทหาร และพลเรือน ที่ช่วยกันดูแลประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการและประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างรัดกุมในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ 2565 โดยจากนี้ขอทุกหน่วยงานช่วยกัน โดยยังต้องช่วยกันจัดเจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนจำนวนมากที่จะเริ่มทยอยการเดินทางกลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ หลังสิ้นสุดวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย 



         ก่อนหน้านี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯกำชับกระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้และเพิ่มการรับรู้แก่ประชาชนในวงกว้างเกี่ยวกับภาวะ Long Covid รวมถึงการดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะดังกล่าว เนื่องจาก ยังมีผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน ไม่ได้มารับการรักษาในโรงพยาบาล บางส่วนอาจยังไม่มีความรู้และยังไม่ได้รับการแนะนำในการดูแลตนเองหลังหายป่วยจากโควิด-19



         ภาวะ Long Covid ในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ มีไข้ ปวดศีรษะ การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้า ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ ท้องเสีย เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง สำหรับบางราย อาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดงหรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะ Long Covid สูงกว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย เนื่องจาก อาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด-19 จึงส่งผลต่อเนื่องอาจยาวนาน 3-6 เดือนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เรื่องเพศ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 



        สำหรับผู้ที่หายป่วยแล้วยังมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่นๆร่วมด้วย จึงต้องตรวจเพิ่มเติมและรักษาให้ตรงกับอาการ



 



#โควิด19



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X