คนทำงานกลางแจ้งในรัฐราชสถาน อินเดียเสี่ยงปัญหาสุขภาพ จากมลพิษแย่ที่สุดของประเทศ

15 เมษายน 2565, 16:05น.


          สำนักข่าวอัลซาซีเราะห์ของกาตาร์ รายงานว่า นายซุเรนดาร์ ซิงห์ ตำรวจจราจรวัย 48 ปี ในเมืองภิวดี (Bhiwadi city) รัฐราชสถานทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ให้นักข่าวดูกล่องเล็กๆที่ยื่นออกจากหน้าอกของเขา โดยระบุว่านี่คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้เขามีชีวิต สิ่งนี้คือเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (ICD) ซึ่งฝังอยู่ใต้ผิวหนัง เพื่อตรวจว่ามีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือไม่



          ในกรณีพบหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่อง ICD จะส่งกระแสไฟฟ้าช็อคในระดับที่แรงที่สุด เพื่อให้การเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ เขากล่าวว่าเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการทำงานในสภาพมลพิษทางอากาศแย่เช่นนี้ พร้อมชี้ไปที่บริเวณสี่แยกของเมืองภิวดี ซึ่งมีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก



          จากการสำรวจโดยบริษัทไอคิวแอร์ (IQAir) ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีตรวจคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนที่แล้ว ระบุว่าจากการตรวจคุณภาพอากาศในเมือง 6,475 แห่งทั่วอินเดีย เมืองภิวดี มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในอินเดีย คือ มีค่า PM2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้กว่า 20 เท่า หมายความว่าฝุ่นละอองเล็กๆในอากาศสามารถจะลอยเข้าสู่ปอดและระบบหัวใจและหลอดเลือดของคนเรา



          แพทย์บอกว่า อันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวจากมลพิษทางอากาศ เช่น โรคหอบหืด มะเร็งปอดและระดับออกซิเจนในเลือดต่ำซึ่งจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการเช่น ปวดหน้าอก แน่นหน้าอก หรือ ใจสั่น เป็นสาเหตุให้นายซิงห์ป่วย แม้ว่าจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่การที่ทำงานเป็นตำรวจจราจรมา 27 ปี สูดอากาศที่แย่ มีฝุ่นและมลพิษทางอากาศแย่เรื่อยมา ทำให้เวลาหายใจมีเสียงหวีด ไอและเจ็บหน้าอกมาตั้งแต่ปี 2561



          คนงานที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น คนกวาดถนน พ่อค้าหาบเร่ คนงานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือยาม ตลอดถึงคนขับรถตุ๊กตุ๊ก กล่าวว่าพวกเขาไม่ทราบว่าการสูดหายใจมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นควันเข้าสู่ปอดเป็นเวลาหลายปีจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ หลายคนต่อสู้ดิ้นรนทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวโดยมองว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนมากกว่าปัญหาสุขภาพ



#อินเดีย



#มลพิษทางอากาศ

ข่าวทั้งหมด

X