องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงว่าขณะนี้กำลังเฝ้าติดตามผู้ติดเชื้อ "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อยใหม่สองสายพันธุ์คือ "BA.4" และ "BA.5" ว่าจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หรือก่อให้เกิดอาการของโรคโควิด ที่รุนแรงไปมากกว่า "โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย "BA.1" และ "BA.2" ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ ทำให้จนถึงขณะนี้ WHO กำลังเฝ้าระวังโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยถึง 6 สายพันธุ์ (ยังไม่นับสายพันธุ์ลูกผสม) คือ BA.1, BA.1.1, BA.2, BA.3, BA.4 และ BA.5
BA.4 และ BA.5 รหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับโอไมครอน "BA.2" มากมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมไปจากโอไมครอน BA.2 เพียงประมาณ 2 ตำแหน่งคือ L452R ที่ไปเหมือนกับเดลตา และ แลมป์ดา และ F486V ซึ่งไม่ค่อยเจอในสายพันธุ์อื่นๆก่อนหน้านี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน
ไวรัสโคโรนา 2019 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาแต่มีเพียง "การกลายพันธุ์บางตำแหน่งเท่านั้น" ที่สามารถส่งผลต่อความสามารถของไวรัสกลายพันธุ์ในการแพร่กระจายหรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาก่อนหน้าจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติ รวมไปถึงเพิ่มความรุนแรงของโรคโควิด
กรณีของ BA.2 ซึ่งพบการติดเชื้อแพร่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ถึงร้อยละ 94 สามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็วเหนือกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ แต่หลักฐานจนถึงตอนนี้ชี้ให้เห็นว่า BA.2 ไม่น่าจะทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้เหมือนเดลตา บีตา อัลฟา ในอดีต WHO รายงานว่าได้มีการสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมไวรัสโคโรนา 2019 จากทั่วโลกพบ สายพันธุ์ BA.4 พบ "83 ตัวอย่าง" สายพันธุ์ BA.5 พบ "37 ตัวอย่าง"
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ช่วยกันอัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" เป็นที่เรียบร้อย สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (The UK's Health Security Agency) ซึ่งถอดรหัสพันธุ์กรรมตัวอย่างโควิด-19 จากทั่วโลกทั้งจีโนม (whole genome sequencing) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พบ BA.4 ในแอฟริกาใต้ เดนมาร์ก บอตสวานา สกอตแลนด์ และอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ถึง 30 มี.ค.
#โควิดกลายพันธุ์
#โอไมครอนระบาดเร็ว