นายจานาร์ดาน ชาร์มา (Janardan Sharma) รัฐมนตรีคลังเนปาล เปิดเผยว่า รัฐบาลเนปาลมีคำสั่งห้ามประชาชนนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ เครื่องสำอางและทองคำ หลังทุนสำรองระหว่างประเทศของเนปาลลดลงมาก เนื่องจากเนปาลมีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดลงมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งแรงงานชาวเนปาลในต่างแดนส่งเงินกลับบ้านน้อยลง ระบุว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการเรื่องการนำเข้า พร้อมทั้งหาทางเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศให้สูงขึ้น
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของเนปาล เปิดเผยว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วง 7 เดือนจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงกว่าร้อยละ 16 มาอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านรูปีเนปาล(หรือ 9,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเหตุให้รัฐบาลเนปาลมีคำสั่งปลดนายมหา ประสาด อธิการี (Maha Prasad Adhikari) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ธนาคารกลางของเนปาล บริหารนโยบายการเงินการคลังผิดพลาดอย่างร้ายแรง ขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 43 ของจีดีพีของเนปาล หลังจากรัฐบาลเพิ่มงบค่าใช้จ่ายเพื่อเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ด้านนายอเล็กซ์ โฮล์มส์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ดูแลตลาดเกิดใหม่ของบริษัทวิจัย แคปปิตอล อิโคโนมิคส์ (Capital Economics) ระบุว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเนปาลดูเหมือนจะเข้มแข็งกว่าศรีลังกา เพื่อนบ้านซึ่งประสบวิกฤติร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษในปี 2491 โดยระบุว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของเนปาลยังคงสูงกว่าวงเงินสำรองขั้นต่ำสองเท่า และระดับหนี้สาธารณะของเนปาลถือว่ายังไม่สูงมาก
#เนปาล
#ห้ามนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย
#คุมทุนสำรองระหว่างประเทศ