สธ.ชูมาตรการ '3 ม.-3 ด่าน' สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดโรค

12 เมษายน 2565, 13:09น.


          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย ภาพรวมการติดเชื้อโควิด-19 ว่ากำลังติดตามข้อมูลเนื่องจากพบว่าหลายประเทศที่เคยควบคุมการระบาดได้ดี แต่กลับมาพบการระบาดใหม่ สิ่งที่เราจับตาดูคือ การเสียชีวิต หลายประเทศเคยทำได้ดี มีมาตรการผ่อนคลาย เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี นิวซีแลนด์ เริ่มกลับมาพบคนเสียชีวิตมากขึ้น  



          ประเทศแถบเอเชีย และอาเซียน มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม  



          ในส่วนของไทย ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี คิดว่า น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้จนถึงสงกรานต์ แต่หลังสงกรานต์ก็จะต้องติดตามอีกครั้ง เนื่องจาก มีการรวมตัวจัดกิจกรรมต่างๆ ขอความร่วมมือประชาชนในช่วงสงกรานต์ 2565 ให้ระมัดระวังทั้งเรื่องอุบัติเหตุและการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการใช้มาตรการดังนี้



-มาตรการ 3 ม. คือ ไม่เมา สวมหมวกกันน็อค ใส่แมส



-เกราะป้องกัน 3 ด่าน คือ ด่านตนเอง ด่านครอบครัว และ ด่านชุมชน เนื่องจาก สถานการณ์โควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยอาการหนักที่กำลังรักษาเพิ่มขึ้น และพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัว คนที่รู้จักกัน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด เช่น การทานอาหาร ดื่มสุราด้วยกันทั้งในงานเลี้ยง ที่บ้าน ในร้านอาหาร เป็นต้น



-มาตรการ Self Clean-up และ 2U คือ



*Universal Prevention เรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ขณะที่ต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง รวมทั้งงดการทานอาหาร เครื่องดื่มร่วมกับผู้สูงอายุ หากจำเป็นให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุด



*Universal Vaccination ฉีดวัคซีนทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้สูงวัย และกลุ่มโรคเรื้อรัง ให้ได้รับวัคซีนช่วงสงกรานต์ 2565



         ผู้เสียชีวิตในไทย เกินหลักร้อยรายสามวันติดต่อกันแล้ว ที่สำคัญพบว่า ผู้ป่วยติดเตียง เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก มีโรคประจำตัว และ ร้อยละ 94 ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น คนที่ฉีดเข็มกระตุ้นลดการเสียชีวิตได้ถึง 31เท่า การฉีดวัคซีนสองเข็มลดการเสียชีวิตได้ 5 เท่า



         กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องคงมาตรการที่สำคัญเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ระดมฉีดวัคซีน และระบบการรักษา เนื่องจาก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปี และอยู่ในกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต คือ โรคมะเร็ง ไตเรื้อรัง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง



         สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้ฉีดวัคซีน



-การเดินทางลำบาก



-ความกลัวผลข้างเคียง ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายว่า เมื่อลูกหลานกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ให้พาผู้สูงอายุที่บ้านไปฉีดวัคซีน กระทรวงได้กระจายวัคซีนไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแล้ว สะดวกมากขึ้น





          ส่วนการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กประถม เร่งฉีดเข็มที่สองต่อเนื่อง ห่างจากเข็ม 1 ประมาณ 8 สัปดาห์ เพื่อเตรียมเปิดเทอม



          เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา12-17 ปี  เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วงก่อนเปิดเทอมเดือน พ.ค.65 หรือ หลังเปิดเทอม 1 สัปดาห์ จะฉีดเต็มโดส หรือครึ่งโดสก็ได้ กระทรวงสาธารณสุขประสานกับกระทรวงศึกษาธิการให้จัดการฉีดที่โรงเรียนครึ่งโดสเป็นหลัก ซึ่งประสิทธิภาพการเพิ่มภูมิคุ้มกันไม่ต่างจากการฉีดเต็มโดส แต่สิ่งที่ดี คือ ผลข้างเคียงมีน้อยกว่า หากผู้ปกครองต้องการให้ฉีดเต็มโดสก็สามารถดำเนินการได้   



          ส่วนเด็กที่ป่วย ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาและฉีดที่โรงพยาบาลได้เลย



 



#สงกรานต์2565



#โควิด19



แฟ้มภาพ 



 

ข่าวทั้งหมด

X