ราคาน้ำมันดิบยังคงดิ่งลงในวันนี้ โดยล่าสุด สัญญาล่วงหน้า WTI หลุดระดับ 94 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์หลุด 99 ดอลลาร์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 4.34 ดอลลาร์ หรือ 4.42% สู่ระดับ 93.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ลบ 4.19 ดอลลาร์ หรือ 4.08% สู่ระดับ 98.59 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากข่าวการระบายน้ำมันของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) รวมทั้งการประกาศล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำมันของจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
ก่อนหน้านี้ IEA มีมติระบายน้ำมัน 60 ล้านบาร์เรลออกจากคลังน้ำมันสำรองของประเทศสมาชิกในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่สหรัฐฯจะสมทบด้วยการระบายน้ำมัน 60 ล้านบาร์เรลเช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระบายน้ำมัน 180 ล้านบาร์เรลที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศในเดือนมี.ค.
ด้านเจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป (EU) จะเจรจากับตัวแทนจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่กรุงเวียนนาในวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตของโอเปก โอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนพ.ค. แม้ว่าสหรัฐและหลายชาติที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน ขณะที่ ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 139 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ.
ความเคลื่อนไหวหลังปิดตลาด (11 เม.ย.65) ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่อง
-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพ.ค.65 ลดลง 3.97 ดอลลาร์ ปิดที่ 94.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
-เบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมิ.ย.65 ลดลง 4.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 98.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
EU มีมติคว่ำบาตรการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียในไม่ช้า ตามการดำเนินการของสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้การที่รัสเซียโจมตียูเครน
ราคาทองฟิวเจอร์ ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 1,950 ดอลลาร์ในวันนี้ ขณะที่ นักลงทุนพากันเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
นอกจากนี้ ราคาทองยังได้ปัจจัยบวกจากคำสั่งซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
#น้ำมันโลก