นักวิจัย มช.แนะเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์ในกลุ่มเสี่ยงรับBA.2ระบาด

11 เมษายน 2565, 09:54น.


          ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 โดยระบุว่า  ทำไมระยะนี้จึงมีผู้ป่วยโควิดที่อาการหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จากข้อมูลเท่าที่มี พอจะสรุปสาเหตุหลักได้ดังนี้



1. จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นมากและรวดเร็ว จะเห็นว่าระยะ 6 เดือนที่เดลตาระบาด มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,410,354 คน โดยมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 27,864 คน ต่อวัน ในขณะที่เพียง 3 เดือนเศษของโอไมครอน (ถึงวันที่ 10 เม.ย.65) มีผู้ติดเชื้อสะสมมากถึง 2,949,705 คน โดยมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 72,478 คนต่อวัน สูงกว่าช่วงเดลตาเกือบ 3 เท่า จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 108 รายต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดลตาที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดถึง 312 รายต่อวันเกือบ 3 เท่า ดังนั้นแม้จะเห็นจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในระยะนี้แต่อัตราการป่วยและเสียชีวิตก็ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงเดลตาระบาดมาก





2. ส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดยังไม่ครบ เป็นข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่โอไมครอนเริ่มระบาดตั้งแต่ต้นปี 65 จากข้อมูล 1 ม.ค.-19 มี.ค.65 มีผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมด 2,464 ราย ซึ่งกว่า 90% เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง พบว่า



- 65% ไม่เคยฉีดวัคซีนหรือฉีดยังไม่ครบ 2 เข็ม



- 31% ฉีดครบ 2 เข็มแล้วแต่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น



- มีเพียง 4% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม





3. ยังมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือยังฉีดไม่ครบ แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถระดมฉีดวัคซีนได้ในอัตราที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยกว่า 70% ของประชากรได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็มภายในระยะเวลาประมาณ 9 เดือนเศษ แต่จะเห็นว่า



- ประมาณ 20% ของประชากรหรือราว 14 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว



- เกือบ 10% หรือราว 6 ล้านคนยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม





4. จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้นยังน้อยและช้าเกินไป ต้องยอมรับว่าในจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายหรือเวคเตอร์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม้จะฉีดครบ 2 เข็มก็มีความสามารถในการป้องกันโอไมครอนต่ำ ดังนั้นการฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA อีกอย่างน้อย 1 หรือ 2 เข็มจึงมีความจำเป็นมากเพื่อให้ต่อสู้กับโอไมครอนได้ดีขึ้น จากรูปที่ 3 จะเห็นว่าคนไทยได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 35% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งต้องถือว่าค่อนข้างน้อยและช้าเกินไป มีประชาชนอีกกว่า 45 ล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น



          การลดจำนวนผู้ติดเชื้ออาจทำได้ไม่ง่ายนักในสถานการณ์ปัจจุบันที่โอไมครอนโดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อย BA.2 กำลังระบาดในประเทศไทย เนื่องจาก สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆที่เคยมีมา รวมทั้งความเป็นไปได้และความคุ้มค่าถ้าเราคิดจะย้อนกลับไป lockdown เหมือนในอดีต ดังนั้น หากต้องการลดจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การระดมฉีดวัคซีนในผู้ที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีน ผู้ที่ยังฉีดไม่ครบ รวมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้มากและเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่จะมีโอกาสอาการหนักและเสียชีวิต



 



#เร่งฉีดวัคซีน



CR:Khuanchai Supparatpinyo



 



 

ข่าวทั้งหมด

X