เงินเฟ้อเดือนมี.ค.สูงสุดในรอบ 13 ปี แตะระดับ 104.79

05 เมษายน 2565, 13:05น.


          ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(เงินเฟ้อทั่วไป)เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 104.79 สูงขึ้น ร้อยละ 5.73 เทียบกับเดือนมีนาคม 2564 สูงสุดรอบ 13 ปี นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า เงินเฟ้อช่วง 3 เดือนแรกสูงขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ย 3 เดือนแรกของปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 4.75 และประเมินว่าหากปัจจัยเสี่ยงกดดันเงินเฟ้อเหมือนในปัจจุบัน ยังมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะยังสูงต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2565 เป็นช่วง 4.0-5.0 % และค่ากลาง 4.5%



          หากย้อนหลังดูสถิติจะสูงสุดรอบ13 ปี โดยคาดการณ์เดิมในเดือนธันวาคม 2564 คาดไว้ช่วง 0.7 – 2.4 % และค่ากลาง 1.5% บนสมมุติฐาน ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่ง 3 เดือนเฉลี่ย 95.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32.34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เฉลี่ย 3 เดือนปีนี้อยู่ที่ 33.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เศรษฐกิจขยายตัว 3.5-4.5% ผลจากภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวและการส่งออกดีขึ้นกว่าปีก่อน



          อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐ ทั้งการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทย แม้เงินเฟ้อใน 3 เดือนยังสูง แต่รัฐไม่น่าจะออกมาตรการเพื่อสกัดเงินเฟ้อ



          สำหรับเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุหลักมาจากสินค้าและบริการในประเทศปรับราคาสูงขึ้น ตามต้นทุน จากราคาพลังงาน วัตถุดิบนำเข้า และค่าขนส่งสูงต่อเนื่อง รวมถึงผลจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและพันธมิตรต่อสงครามขัดแย้งรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบที่รุนแรงเพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจมีความเปราะบาง



          ส่วนกลุ่มอาหารสดปรับสูงขึ้นกว่าปีก่อนแต่ไม่มากนัก ขณะที่ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาเริ่มลดลง และเมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2565 เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สูงขึ้นเพียง 0.66 % เป็นการสูงขึ้นอัตราที่ชะลอตัว



          สินค้าบางรายการราคาปรับลดลง ทั้งนี้ เดือนมีนาคม สินค้าในการคำนวณเงินเฟ้อ พบว่า 280 รายการปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า เชื้อเพลิง( อาหารตามสั่ง-อาหารทานนอกบ้าน เป็นต้น อีก 59 รายการไม่เปลี่ยนแปลง และมี 91 รายการราคาลดลง)



          โดยในเดือนมีนาคม พบว่า กลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 32.43%โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95 % ซึ่งเป็นไปตามราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด เครื่องประกอบอาหาร และอาหารปรุงสำเร็จ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ รวมทั้งฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการ อาทิ ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง



 



 



#เงินเฟ้อ



#เดือนมีนาคม2565

ข่าวทั้งหมด

X