สถานการณ์โควิด-19 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า สถานการณ์ติดเชื้อโควิดเริ่มแพร่เข้าไปในกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่พบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนที่พบสูงที่สุด คือ อายุ 30-39 ปี รองลงมาคือ 20-29 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 10-19 ปี เริ่มพบลดลงเนื่องจากปิดเทอม ส่วนกลุ่ม 40 ปีขึ้นไป และเด็กเล็กสถานการณ์ยังคงตัว ส่วนอัตราการเสียชีวิตต้องประชากรแสนคน ยังคล้ายกับ 2-3 เดือนที่แล้ว สูงสุดคือกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ตามด้วย 60-69 ปี และวัยอื่นก็ลดลงตามกลุ่มอายุ
สำหรับเด็กอายุ 0-4 ปี ระลอกโอไมครอนเสียชีวิตแล้ว 27 ราย มากกว่าระลอกที่แล้วที่พบ 23 ราย ซึ่งโอไมครอนมีการแพร่เชื้อเร็วมาก การติดเชื้อในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีการสังเกตอาการเด็กเล็กไม่ค่อยดี จะทำให้กว่าจะตรวจพบว่ามีอาการป่วยทำให้ช้าเกินไป
โดยผู้เสียชีวิตในเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี ระลอกนี้มี 2 ราย อายุ 10-14 ปีมี 3 ราย ถือว่ายังน้อยกว่าระลอกที่แล้วที่พบ 9 ราย และ 13 รายตามลำดับ ส่วนอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนในกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี ระลอกที่แล้วยังสูงกว่า ขณะที่อัตราตายต่อประชากรแสนคน เนื่องจากระลอกนี้การแพร่เยอะและเร็ว ไปถึงกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว ทำให้อัตราตายและอัตราป่วยตายของเด็กอายุ 0-4 ปีมีจำนวนมากขึ้น โดยผู้เสียชีวิตของเด็กอายุ 0-14 ปี ทั้งระลอกเม.ย. 2564 และระลอก ม.ค. 2565 รวม 104 ราย พบว่า กลุ่มที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงกว่ากลุ่มที่ไม่มีโรคประจำตัว จึงขอให้ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยผิดปกติแม้เล็กน้อยหรือคนในบ้านเป็นผู้ป่วยหรือสัมผัสเสี่ยงสูงแล้ว ต้องรีบพาเด็กที่เริ่มมีอาการป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-4 ปี
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 อายุ 0-18 ปีในประเทศไทย ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะกำหนดฉีดอายุ 5 ปีขึ้นไป จนกว่าจะมีวัคซีนที่เหมาะกับกลุ่มเด็กเล็ก พบว่า การป่วยและความรุนแรงของโรคกลุ่มเด็กเล็ก 0-6 เดือน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่ป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มวัยอื่นที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนอายุ 5-12 ปี การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะระลอกนี้ มีเพียง 3 ราย น้อยกว่า 0.01% เพราะฉะนั้น กลุ่มวัยเรียนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปการรับวัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี
นอกจากนี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดที่สำคัญช่วงสงกรานต์ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก 1.ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน กลุ่มติดเตียง อาจรับเชื้อจากผู้ดูแลญาติ ผู้มาเยี่ยม 2.กลุ่ม 608 ยังทำงานได้ เสี่ยงติดเชื้อจากผู้อื่น ทั้งเพื่อน ญาติ รวมทั้งไปสถานที่แออัด และ3.เด็กเล็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า 5 ปี จากข้อมูลพบเสียชีวิต 60 % มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว และอีก 40% ไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้ ส่วนเด็กวัยเรียนช่วงปิดเทอมมีแนวโน้มติดเชื้อลดลง ขณะที่วัยทำงานยังคงมีอัตราติดเชื้อสูงมาก สำหรับสถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรคเช่น ทานข้าว ดื่มสุราร่วมเป็นเวลานาน ร่วมงาน/กิจกรรม ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
#โควิดในเด็ก