จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 4 - 7 เมษายน 2565 พบว่าอิทธิพลของลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ขานรับตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2565 แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 5 – 8 เมษายน 2565 บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยให้พิจารณาความเหมาะสมการระบายน้ำในลำน้ำหรือแม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (4 เม.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 47,365 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 23,427 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 18,917 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 85 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,053 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 4,357 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,700 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 92 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมถึงเน้นย้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทางภาคใต้
#กรมชลประทาน
#น้ำท่วมภาคใต้