ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยภาวะการเงินเปราะบาง หนี้ครัวเรือนมากกว่า 14 ล้านล้านบาท

03 เมษายน 2565, 10:33น.


          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยข้อมูลครัวเรือนไทยในปี 2564 มีรายได้เฉลี่ย 27,352 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ย 26,018 บาทต่อเดือนในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด รายจ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21,616 บาทต่อเดือน จาก 20,742 บาทต่อเดือนในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79 ของรายได้ต่อเดือน



          หากครัวเรือนมีภาระอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาระผ่อนหนี้ ก็จะทำให้มีเงินเหลือเก็บสะสมเป็นเงินออมน้อยลง



          หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.2 ในปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 51.2 ในปี 2564 ทำให้เห็นว่าครัวเรือนไทยเปราะบางทางการเงินมากขึ้น



           หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.2



           ครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งในและนอกระบบขยับขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อละ 4



           หนี้สินเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ของครัวเรือน หากดูหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 205,679 บาทในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.25 เท่าเมื่อเทียบกับระดับหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 164,005 ในปี 2562 ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 1.05 เท่า เท่านั้น



           ขณะที่ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยมีประชาชนรายย่อยอีกกว่า 4,340,000 บัญชีที่ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของสินเชื่อรายย่อยรวมของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เห็นว่าฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนรายย่อย ยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะผันผวนและไม่แน่นอนของเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขยับขึ้นในอนาคต



          สำหรับหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14,580,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 3.9 เทียบกับปี 2563 แต่จากเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เติบโตช้า ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 90.1 จากร้อยละ 89.7 ในปี 2563 โดยคาดว่าหนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงในกรอบร้อยละ 86.5-88.5 ต่อจีดีพีในปี 2565 แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะต่ำลงเมื่อเทียบกับระดับร้อยละ 90.1 ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 แต่ก็ยังนับว่าเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง



          ข้อมูลหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย สัดส่วนร้อยละ 34.5 ของหนี้ครัวเรือนรวม, เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 18.1 ของหนี้ครัวเรือนรวม และเงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 12.4 ของหนี้ครัวเรือนรวม



          ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนพึ่งพาบริการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ยืม เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 8 ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2564 จากที่มีสัดส่วนร้อยละ 7 ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของภาคครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ยังคงไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19



          เงินออมของภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ในรูปเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะขยับขึ้นต่อเนื่องจาก 12,280,000 ล้านบาทในปี 2563 มาอยู่ที่ 12,870,000 ล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 79.5 เมื่อเทียบกับจีดีพี และร้อยละ 88.2 เมื่อเทียบกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน 



...



#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



#หนี้ครัวเรือน

ข่าวทั้งหมด

X