เปิดผลวิจัยอังกฤษแค่สูดอากาศที่มีละอองปนเปื้อนไวรัสแค่หนึ่งครั้ง ก็ติดโควิด-19 ได้

01 เมษายน 2565, 17:46น.


          ดร.คริสโตเฟอร์ ชิว ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อและระบาดวิทยา จากวิทยาลัยอิมพิเรียล คอลเลจ ลอนดอน อังกฤษ เปิดเผยผลวิจัยในโครงการฮิวแมน ชาเลนจ์(Human Challenge)เริ่มวิจัยตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่มีการวิจัยในลักษณะนี้ โดยทีมวิจัยใช้ท่อยางหยอดของเหลวปนเปื้อนเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมเข้าทางจมูกของอาสาสมัคร 36 คน อายุ 18-36 ปี มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่เคยป่วยมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พวกเขาติดโรคโควิด-19 เพื่อให้นักวิจัยทราบว่า เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายของคนเราอย่างไร



          มีการตีพิมพ์ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ชื่อ เนเจอร์ เมดิซีน (Nature Medicine) จากการวิจัยทำให้ทราบว่า การสูดฝอยละลองเล็กๆที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19)ทางจมูกเพียง 10 ไมครอน หรือเท่ากับการจามหรือไอที่มีละอองปนเปื้อนเชื้อไวรัสเพียงแค่หนึ่งครั้ง ทำให้คนเราติดโรคโควิด-19 ได้



          ทีมวิจัยพบข้อมูลใหม่เช่น  ไวรัสมีระยะเวลาฟักตัวสั้น คือ หลังติดเชื้อไวรัสแล้ว 2 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนอื่นๆ โดยเฉลี่ย อาสาสมัครจะแพร่เชื้อไวรัส 6-7 วันหลังป่วย แต่บางคนแพร่เชื้อไวรัสนานถึง 12 วัน แม้แต่คนที่ไม่แสดงอาการป่วยก็ยังสามารถแพร่โรคโควิด-19 ไปสู่คนอื่นๆได้เช่นกัน นอกจากนั้นหลังติดไวรัสแล้ว 40 ชั่วโมง จะตรวจพบไวรัสที่ช่องคอ หลังติดไวรัสแล้ว 58 ชั่วโมง สามารถตรวจพบไวรัสโดยการสว็อบที่จมูก เมื่อมีไวรัสร้อยละ 70-80 สามารถตรวจพบไวรัสด้วยวิธีการตรวจแบบทราบผลเร็ว



          ผลการวิจัยปรากฏว่า จากจำนวนอาสาสมัคร 36 คน มีครึ่งหนึ่งคือ 18 คน ติดโรคโควิด-19 ในกลุ่มที่ป่วย มี 2 คนไม่แสดงอาการป่วย ส่วนใหญ่มีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น น้ำมูกไหล แน่นหน้าอก และเจ็บคอ ร้อยละ 83 ของผู้ป่วยมีภาวะจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ส่วนใหญ่อาการนี้จะหายไป 6 เดือนหลังหายป่วย



          นับเป็นข้อมูลที่เกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในการพัฒนายาหรือวัคซีนในอนาคต เนื่องจากโดยปกติ คนไข้ส่วนใหญ่ไปพบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วยแล้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสระหว่างการฟักตัวของเชื้อไวรัสตั้งแต่แรก ก่อนเริ่มมีอาการป่วยว่ามีลักษณะการฟักตัวอย่างไร ตลอดถึงการแพร่เชื้อหลังป่วย



#อังกฤษ



#ผลวิจัยโควิด

ข่าวทั้งหมด

X