คึกคัก! สมัครฯผู้ว่าฯ กทม.วันแรก ตร.เตือนระวังติดป้าย! อย่าผิดจุด

31 มีนาคม 2565, 08:02น.


         คึกคักแต่เช้าสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก ประมาณ 7 แสนคน คิดเป็น16% ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หากติดเชื้อโควิด-19 สมัครได้ เตรียมห้องแยกไว้แล้ว การสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 31 มี.ค.-4 เม.ย.65 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง



-ผู้ที่จะมาสมัครรับเลือกตั้ง หากมีการตรวจคัดกรองแล้วพบว่าอุณหภูมิร่างกายสูงหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามไว้ แต่จะมีการจัดเตรียมสถานที่และเจ้าหน้าที่รับสมัครแยกออกมาจากผู้สมัครคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19



-การรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้งในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1 คน ให้ถือเขตของกรุงเทพมหานครเป็น 1 เขตเลือกตั้ง



ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง



-ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยเรื่องนโยบายการเปลี่ยนกรุงเทพให้เป็นเมืองสวัสดิการ ไม่ใช่แค่ได้ฟรี ราคาถูก แต่ต้องดีด้วย ให้คนกรุงเทพลุกขึ้นและเดินไปได้ ต้องทันสมัยทุกอย่าง ด้วยการใช้ระบบวิศวกรรมเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองต้นแบบในระดับอาเซียนให้ได้ ด้วยการเน้น เปลี่ยนชีวิตคน เปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก ส่วนเรื่องสุขภาพ จะเตรียมเงิน เติมคน เติมกำลัง เพื่อหยุดโควิด-19 ให้ได้ ส่วนเรื่องการศึกษา โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครต้องเป็นโรงเรียนต้นแบบ ให้ได้ ให้คนกรุงเทพฯส่งลูกเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องเกิดปัญหารถติด รวมทั้ง จัดการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำเน่า น้ำเสีย



-นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า นโยบาย พร้อมชนสร้างเมืองให้คนเท่ากัน  มั่นใจว่า เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนกรุงเทพฯ



-น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต ส.ส. กทม. พรรคไทยรักไทย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงสมัครในนามพรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรค เดินทางมาด้วย ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย ส่งผู้สมัครส.ก. ด้วยครบ 50 เขต มีการเดินทางมาด้วยรถบัสสองชั้นและรถสองแถว น.ต.ศิธา เปิดเผยว่า เรื่องเร่งด่วน ทดสอบระบบระบายน้ำทั้งหมดของกรุงเทพฯ ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี จะทำให้การระบายน้ำดีขึ้น 50%  



ผู้สมัครอิสระ



-ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ผู้ที่ยืนหนึ่งทุกโพลสำรวจความคิดเห็นผู้ว่าฯ กทม. มีกลุ่มเพื่อนชัชชาติเป็นกองหนุน เดินทางมาสมัครเป็นคนแรก ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนในทุกมิติ กรุงเทพฯ ไม่ได้เลวร้าย แต่จะปรับให้ดีขึ้นได้ ทำให้ดีที่สุดแล้วแต่ประชาชนเลือก คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเปลี่ยนวิธีคิด เชื่อว่า สามารถทำงานกับรัฐบาลได้ การสมัครที่ไม่สังกัดพรรค มีความเป็นอิสระ จุดแข็ง คือ นโยบายของตัวเองมาจากความคิดของอาสาสมัครใครจะนำไปใช้ได้ ส่วนจุดอ่อน คือ ไม่มีฐานเสียง



-น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ที่เปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระตั้งแต่ปลายปี 62



-นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย



-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีต ผู้ว่าฯ กทม. ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งมาลงสมัครในนามอิสระ (กลุ่มรักษ์กรุงเทพ) ยืนยันว่า นโยบายที่มียังไม่ได้นำไปสู่การปฎิบัติ ในช่วงที่เป็นผู้ว่าฯ กทม. 5 ปี ก็ได้ทำไปแล้ว แต่ยังไม่เสร็จ เนื่องจาก นโยบายมีจำนวนมาก ต้องการกลับมาทำงานต่อ พร้อมทั้งชูนโยบาย คนกรุงเทพต้องปลอดภัย สงบสุข และคนกรุงเทพฯต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น



-นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ยืนยันว่านโยบายที่นำมาเป็นทางเลือกในครั้งนี้ได้มาจากประสบการณ์ในการทำงาน และ เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ในส่วนตัวไม่ได้ถือฤกษ์และไม่มีหมายเลขในใจ หากได้หมายเลข 6 ก็ดี เพราะจะได้นำไปต่อยอดกับนโยบายของตัวเอง หลังจากที่ได้หมายเลขแล้วจะเดินหน้าหาเสียงทันที กรุงเทพฯ ดีอยู่แล้ว แต่การบริหารจัดการ และการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ น่าจะทำได้ดีมากกว่าเดิม



-ดร.ประยูร ครองยศ อดีต รอง ผอ.สำนักบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย กทม.



-น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อดีตผู้บริหารจากแวดวงธุรกิจ ลงสมัครในนามอิสระ (กลุ่มใส่ใจ)



-นายธเนตร วงษา ผู้ประกอบการธุรกิจเครือข่าย ธุรกิจร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ



-นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม



-ดร.ศุภชัย ตันติคมม์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ระบุว่า การหาเสียงเน้นลงพื้นที่ ชู 3 นโยบาย สร้างความสะดวก สร้างชีวิตดีดี สร้างรายได้เพิ่มให้คนกรุงเทพฯ ระยะเวลาที่หาเสียงสั้น แต่รู้จักพื้นที่ดีและมีประสบการณ์ในการทำงานกับผู้ว่าฯกทม. ขึ้นอยู่กับชาวกรุงเทพฯ    



-สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 50 คน ให้ถือเขตของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวน 50 เขตเลือกตั้ง



-รายงานระบุว่า มีการจับหมายเลข 2 ครั้ง ครั้งแรกปลัดกทม.จะจัดลำดับผู้สมัครก่อน หลังจากนั้น ผู้สมัครแต่ละคนตามลำดับขึ้นมาจับหมายเลขของตัวเอง  



-จำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 5,523,676 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค.65) แบ่งเป็นผู้ชาย จำนวน 1,996,104 คน ผู้หญิง จำนวน 2,378,027 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,862 หน่วย



         คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด



*สถานที่ปิดประกาศได้ ได้แก่ บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขต โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ผู้สมัครปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น เท่านั้น และต้องแจ้งขอปิดประกาศต่อหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายของสถานที่นั้นๆ



*สถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ ผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน



         พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก



-ตำรวจ สน.ดินแดง และกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 วางแผนจัดการจราจรบริเวณสนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง โดยจะต้องประชาสัมพันธ์เส้นทางการเดินรถ และจุดจอดรถให้กับผู้ที่จะมาสมัครได้รับทราบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางโดยรอบสนามกีฬาฯ รวมถึงให้เตรียมรถยกสำหรับจัดการกับรถที่จอดกีดขวางการจราจรและกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ



-ส่วนการเฝ้าระวังกลุ่มความเห็นต่างก่อความวุ่นวาย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สั่งการให้ติดตามการข่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความรุนแรง ยังไม่พบว่าจะมีกลุ่มก่อความวุ่นวาย แต่ตำรวจก็จะเฝ้าระวังและเตรียมการอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นมาตรการเชิงรุกไปจนถึงหลังการลงคะแนน



-เตรียมกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษ 191 ตำรวจสันติบาลและตำรวจท้องที่ ให้จัดเตรียมยุทธวิธี และอุปกรณ์ต่างๆ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ยืนยันว่า มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการในทุกกรณี



-ป้ายหาเสียงของผู้สมัครที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ และอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจ กรุงเทพมหานคร ในการจัดการดูแล แต่ตำรวจก็จะคอยตรวจตราป้ายหาเสียงที่ติดตั้งบริเวณทางข้าม ทางร่วม ทางแยก บดบังทัศนวิสัย อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายกับประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน ก็จะต้องประสานไปที่ผู้สมัครให้ย้ายป้ายเพื่อความปลอดภัย



 



#เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร



 

ข่าวทั้งหมด

X