แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ บุคลากรทางการแพทย์นั้น มีอาจารย์แพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิคอยพิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งฉบับล่าสุดได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 21 ณ วันที่ 22 มี.ค.2565 โดยสถานการณ์ตอนนี้พบว่าเชื้อโอไมครอน ติดเชื้อได้ง่าย แต่ไม่เกิดอาการรุนแรง จึงต้องปรับแนวทางให้สอดคล้อง โดยการปรับแนวทางล่าสุด มีประเด็นสำคัญในกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านไวรัสที่มีการพัฒนา ดังนี้
1.กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือการแยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสม ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์ "ที่สำคัญ ไม่ให้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านไวรัส เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงจากยา"
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ
-อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด คือ ไม่เกิน 5 วัน
-หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
"สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ต้องขอให้เน้นย้ำ เรื่องการให้ยา โดยการให้ยาฟาวิฯ มีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะไตรมาสแรก เพราะอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาการทารกในครรภ์ นอกจากนั้น ในกลุ่มมีปัญหาเรื่องตับ ยาฟาวิฯมีผลได้ และยังมีผลต่อการระคายเคืองทางเดินอาหาร รวมถึงยาฟาวิพิราเวียร์ยังทำให้กรดยูริกสูงขึ้น ซึ่งคนไข้ที่มีปัญหากรดยูริก จะทำให้ตับ ไตมีผล ตัวยูริกในร่างกายสูงขึ้น จึงขอย้ำเน้นประชาชนต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นแนวทางเวชปฏิบัติฯที่ออกมา"
ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำว่า ขอยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข มียาเตรียมพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยทุกท่าน ที่มีความจำเป็นต้องได้รับยา เพราะไม่ใช่ทุกรายต้องได้รับยา โดยแพทย์จะวินิจฉัยและพิจารณาตามอาการ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ทุกท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ขอให้มาฉีด เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันมาสู้กับเชื้อได้ ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ตัววัคซีนจะไปกระตุ้นภูมิฯ และกำจัดเชื้อได้ภายใน 5 วัน เมื่อครบ 5 วันให้ตรวจ ATK อีกครั้ง หากเป็นผลลบ แสดงว่าร่างกายที่ได้รับวัคซีนขจัดเชื้อได้แล้ว ขอย้ำบุคลากรทางการแพทย์ใช้เวลาในการอธิบายการใช้ยากับประชาชนเรื่องการใช้ยา เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
#โควิด19