ญี่ปุ่นเฝ้าระวังภาวะเงินเฟ้อจากสถานการณ์สู้รบในยูเครน กระทบการส่งพลังงานสู่ตลาดโลก

25 มีนาคม 2565, 16:22น.


          รายงานเศรษฐกิจญี่ปุ่นประจำเดือนมีนาคม ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นในวันนี้บ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นจะต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นผลจากสถานการณ์การสู้รบในยูเครน และผลกระทบต่อการส่งพลังงานสู่ตลาดโลก นอกจากนั้น ผู้ประกอบการมีการปรับเพิ่มราคาสินค้า ขณะที่รายได้ของคนทำงานส่วนใหญ่ยังอยู่เท่าเดิม ไม่มีการปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยลบอีกข้อหนึ่งที่จะกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือน ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะงักงันด้วย



          ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการประกาศภาวะฉุกเฉิน และภาวะกึ่งฉุกเฉินในช่วงที่ผ่านมา กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้วด้วย รายงานระบุว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนยังคงมีอยู่ อีกทั้งปัจจัยลบอื่นๆเช่น ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ความผันผวนของตลาดหุ้นและปัญหาเช่น ความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อสินค้าในต่างแดนล้วนแต่เป็นประเด็นที่ภาครัฐควรจะพิจารณาเช่นกัน



          รายงานฉบับนี้ประเมินแนวโน้มของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ไม่แตกต่างจากในเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่ยังคงมีปัจจัยลบในบางเรื่องเช่นเดียวกัน เช่น ภาคครัวเรือน ย้ำการประเมินในเดือนที่แล้วว่า การบริโภคของภาคครัวเรือยังคงหยุดชะงัก อีกทั้งภาคธุรกิจได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นานหลายเดือน



           ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เดือนกุมภาพันธ์ สูงสุดในรอบ 2 ปี  บริษัทต่างๆเพิ่มปรับราคาสินค้า เพื่อผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้กับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคซื้อของในราคาสูงขึ้น นักวิเคราะห์และคณะผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น คาดว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้แตะร้อยละ 2 ในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น



#ญี่ปุ่น



#เศรษฐกิจเดือนมีนาคม

ข่าวทั้งหมด

X