ผลวิจัย 2 ชิ้นของนักวิจัยสหรัฐฯ ลงพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อ วารสารโรคเบาหวานและวิทยาต่อมไร้ท่อแลนซิต (Lancet Diabetes and Endocrinology) ชี้ว่า คนไข้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ในอัตราร้อยละ 40 เป็นอาการที่เกิดขึ้นหนึ่งปีหลังติดโรคโควิด-19 แม้คนไข้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยหรือกลุ่มคนไข้ที่ไม่แสดงอาการป่วยก็มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน
โดยงานวิจัยชิ้นแรก ทำการวิจัยโดยกระทรวงการทหารผ่านศึกสหรัฐฯ ติดตามดูสุขภาพของคนไข้วัยผู้ใหญ่กว่า 181,000 คนเป็นระยะเวลาหนึ่งปี หลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 ทั้งศึกษาเปรียบเทียบกับประชากรอีกกลุ่มหนึ่งกว่า 8 ล้านคนซึ่งไม่ติดโรคโควิด-19 โดยนพ.ซิยาด อัล-อาลี (Ziyad Al-Aly) หัวหน้าทีมวิจัยจากกระทรวงการทหารผ่านศึกสหรัฐฯ ระบุว่า จากประชากรทุกๆ 1,000 คน มีคนไข้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 จำนวน 13 คน เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จนต้องไปพบแพทย์ เพื่อรักษาโรคเบาหวาน โดยภาพรวม คนไข้ 2 คนในบรรดาคนไข้ทุกๆ 100 คน จะมีอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานหนึ่งปี หลังติดโรคโควิด-19
งานวิจัยชิ้นที่สอง ศึกษาจากผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 35,865 คน ลงพิมพ์ในวารสารไดอะบีโทโลเจีย(Diabetologia) ซึ่งเป็นวารสารของสมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาโรคเบาหวาน ทีมวิจัย พบว่า คนที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอัตราร้อยละ 28 ซึ่งจะต้องรักษาอาการป่วยด้วยการควบคุมน้ำหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ทีมวิจัยเสนอให้คนไข้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แต่เริ่มมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น หิวกระหายกว่าปกติ หรือปัสสาวะบ่อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า เป็นโรคเบาหวานหรือไม่
#สหรัฐฯ
#ผลวิจัยโควิด