ภาคอุตสาหกรรม พยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ จัดตั้งธุรกิจเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ของ กนอ. ปีงบประมาณ 2565 โดยมี รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นผู้ลงนาม
การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดการดำเนินการอนุรักษ์ พลังงานตามกฎหมายที่พร้อมเพรียงกันได้ 100 % ภายในปี พ.ศ. 2567 และกระตุ้นให้ดำเนินการให้ได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด และผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 150 MW เพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) และสร้างบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านพลังงานที่มีความพร้อมในการผลักดันงานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 1,110 คน คาดว่า จะเกิดการประหยัดพลังงานสะสมในปี 2567 กว่า 640 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 2,560 ล้านบาท สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 339,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ขณะที่ กนอ. ประกาศนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระยะแรกตั้งเป้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง 15 แห่ง จำนวน 1,505 โรงงาน ให้ตระหนักถึงความจําเป็นในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ภายใต้กรอบความร่วมมือใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายอนุรักษ์พลังงาน ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน ด้านการพัฒนาบุคลากร ระบบฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล ระหว่างกัน และด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แผนงาน/กิจกรรมภายใต้ความร่วมมือ ภายในระยะเวลา 3 ปี (ปี พ.ศ. 2565 - 2567) เพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และสร้างบุคลากรที่มีองค์ความรู้และทักษะด้านพลังงานที่มีความพร้อมในการผลักดันงานด้านอนุรักษ์ พลังงานและพลังงานทดแทน
#ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
CR:กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน