ความคืบหน้าเหตุเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 ของสายการบิน ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ MU5735 ตกในพื้นที่หุบเขา ในเขตปกครองตนเองกวางซีจ้วง ทางตอนใต้จีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 132 ราย เป็นอุบัติเหตุด้านการบินพาณิชย์ที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 10 ปีของจีน โดยในที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่หลายร้อยคนทำงานเก็บกู้ซากเครื่องบิน และค้นหากล่องดำทั้ง 2 กล่องเพื่อให้ทราบสาเหตุที่เครื่องบินตก
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน มีคำสั่งให้สอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เว็บไซต์ ไฟลท์เรดาร์ ทเวนตี้โฟร์ (FlightRadar24) ระบุว่า MU5735 ออกเดินทางจากนครคุนหมิงเวลา 13:11 น. ตามเวลาท้องถิ่น และมีกำหนดเดินทางถึงนครกว่างโจวในเวลา 15:05 น. แต่ในขณะที่เครื่องบินอยู่ห่างจากปลายทางประมาณ 100 ไมล์ เครื่องบินลดระดับการบินอย่างรวดเร็วจากความสูง 8,870 เมตร เหลือ 982 เมตร ในระยะเวลาเพียง 3 นาที และข้อมูลการบินหยุดลงในเวลา 14.22 น. ตามเวลาท้องถิ่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยการบินตรวจสอบคลิปภาพขณะที่เครื่องบินตก พบว่า เครื่องดิ่งลงสู่พื้นด้วยความเร็วในลักษณะเกือบตั้งตรง ทั้งที่เครื่องบินที่เกิดเหตุมีการใช้งานเพียง 6 ปีเท่านั้น และรุ่น 737-800 ก็เป็นรุ่นที่มีประวัติด้านความปลอดภัยทางอากาศดีกว่ารุ่น 737แม็กซ์ ที่ประสบเหตุตกในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 ครั้ง และเคยถูกระงับใช้งานทั่วโลก
ด้านบริษัท โบอิ้งออกแถลงการณ์ว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือในการสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น และได้ประสานกับคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ แล้ว
และสายการบิน ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส แสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้โดยสารและลูกเรือทุกคน โดยมีการเปลี่ยนเว็บไซต์เป็นสีขาวดำเพื่อไว้อาลัย และสั่งระงับการใช้งานเครื่องบินรุ่นนี้ทุกลำ
คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ (NTSB) ส่งผู้สอบสวนความปลอดภัยด้านการบินอาวุโสเข้าร่วมการทำงานกับสำนักบริหารการบินพลเรือนของจีน ร่วมด้วยผู้แทนจากบริษัทโบอิ้ง บริษัทซีเอ็ฟเอ็ม (CFM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทจีอี เอวิเอชัน (GE Aviation) ของสหรัฐฯ กับบริษัทซาฟราน แอร์คราฟท์ (Safran Aircraft) ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง และผู้แทนจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ทำหน้าที่คณะที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิค (technical advisers) ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ
สำนักงานการบินของสหรัฐฯ มีความเห็นว่า เป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เที่ยวบินนี้มีเส้นทางการบินที่ค่อนข้างตรง และการที่ช่องสัญญาณสื่อสารยังเปิดทำงานอยู่ในระหว่างเกิดเหตุ เป็นการบ่งชี้ ว่าการทำงานของเครื่องบินไม่ได้หยุดชะงักเหมือนกับกรณีที่มีการวางระเบิดบนเครื่องบิน ขณะที่ คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ มีความเห็นว่า เป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับกรณีที่เครื่องบินโบอิ้ง 737-300 ของสายการบินซิลค์แอร์พร้อมด้วยผู้โดยสาร 104 คน ตกในอินโดนีเซีย แต่นายเบนจามิน เบอร์แมน อดีตผู้ตรวจสอบของคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าอะไรคือสาเหตุ และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากหลายสาเหตุมาประกอบกัน อาทิ การทำงานที่ผิดปกติของเครื่องบิน หรืออาจเป็นความผิดพลาดของนักบิน
...
#จีน
#โบอิ้ง737
#เครื่องบินตก