กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ระยะหลังพบว่าผู้เสียชีวิตสอดคล้องกับผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรังที่ฟอกไต ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียง แม้ว่ากลุ่มนี้รับวัคซีนแต่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ค่อยดี ต้องเร่งฉีดกระตุ้น ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้หายาใหม่ที่มีผลวิจัยว่าช่วยผู้ป่วยอาการดีขึ้น เช่น แพกซ์โลวิด โมลนูพิราเวียร์ รวมถึงความร่วมมือผู้ผลิตยาอื่นๆ ด้วย
หลักการ คือ หากพบผู้ติดเชื้อป่วยมาก ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นเราต้องช่วยกันลดผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทาง มีการพบกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานเลี้ยง งานทางศาสนา
ในการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน พบว่า โอกาสที่ 1 คนติดเชื้อแล้วนำเชื้อไปติดคนในบ้านทั้งเด็กและผู้สูงอายุมากกว่าเดลตา ดังนั้น ช่วงสงกรานต์ก็ขอให้ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในบ้าน
1.ฉีดวัคซีนคนในบ้าน
2.ผู้สูงอายุรับเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ เข็ม 4 คนที่รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป โอกาสเสียชีวิตมีน้อยกว่ามาก ข้อมูลปัจจุบันผู้ที่รับวัคซีนครบ โอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าไม่ได้รับถึง 6 เท่า แต่คนที่รับ 3 เข็มแล้ว โอกาสเสียชีวิตจะลดลงถึง 41 เท่า
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า มีข้อสังเกต คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยทรงตัวที่ 2 หมื่นคนต่อเนื่องมาราว 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นสิ่งที่ไม่ทำให้กังวลมากเกินไป คือ ตัวเลขติดเชื้อไม่พุ่งสูงมาก หากเปรียบเทียบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่ติดเชื้อสูงมาก แต่ไทยไม่ขึ้นสูงขนาดนั้น เพราะมีมาตรการและประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี เพื่อชะลอการระบาดให้มากที่สุด ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ 90 % จะมีอาการน้อย อีก 10% จะมีอาการหนัก และในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตซึ่งต้องพยายามลดตัวเลขการเสียชีวิตให้ต่ำที่สุด จากการวิเคราะห์พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คนมีโรคประจำตัว ส่วนหญิงตั้งครรภ์ระยะหลัง เสียชีวิตลดลงในระลอกโอไมครอน ปัจจัยสำคัญ พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม
#กลุ่มเสี่ยงโควิด
CR:ภาพจากกระทรวงสาธารณสุข