หลังจากเมื่อวันพุธ(16มี.ค.65) ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งในปีนี้
นายเจอร์รี ไรซ์ โฆษกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสม ในการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด และส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งต้องพึ่งพาเงินทุนในสกุลดอลลาร์
ขณะเดียวกัน นายไรซ์ กล่าวว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังเพิ่มความเสี่ยงสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ต้องพึ่งพาเงินทุนในสกุลดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของเฟด เนื่องจาก บริบททางด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกันหลังโรคระบาด รวมถึงผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การให้แนวทางที่ชัดเจนในอนาคตอย่างต่อเนื่องและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลอย่างเหมาะสมตามสัดส่วน จะช่วยให้ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่คาดไว้
นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า ในปีนี้ เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 1 ครั้งหรือมากกว่านั้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ความเห็นของนายวอลเลอร์ สอดคล้องกับนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 12 ครั้งในปีนี้ เพื่อแสดงว่าเฟดมีความจริงจังในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ เงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชน
นายบูลลาร์ด กล่าวว่า เขาต้องการให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่สูงกว่า 3% จากระดับใกล้ 0% ในขณะนี้
#เฟด
#IMF
แฟ้มภาพ