ศบค.ชี้คนผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อโควิด จะเป็นโรคประจำถิ่น ขอให้เข้มมาตรการส่วนตัว

18 มีนาคม 2565, 14:00น.


          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ชี้แจงว่า ในที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน เห็นชอบแผนที่ประเทศไทยจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ในวันที่ 1 ก.ค.65 เรื่องสำคัญที่จะทำให้เราทำตามแผนให้ได้ คือ การที่ทุกคนช่วยกันใน 4 ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมาย และสังคม รวมทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ที่นำไปใช้พร้อมกันทั่วประเทศ แต่สถานการณ์จริง 1 ก.ค.65 จะเป็นอย่างไรต้องดูกันต่อไป หากสถานการณ์เปลี่ยนก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่า เมื่อรู้ว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น คนก็ผ่อนคลายทันที ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้มมาตรการส่วนตัว 



  



                    สำหรับ 4 มาตรการในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น ประกอบด้วย



1.ด้านสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อน และผู้ป่วยปอดอักเสบ ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส 



2.ด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง รวมทั้งภาวะ Long Covid



3.ด้านกฎหมายและสังคม บริหารจัดการด้านกฎหมายในทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่ Post pandemic ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก และทุกภาคร่วมดำเนินการมาตรการป้องกันตัวเองแบบครบวงจร และโควิดฟรีเซตติ้ง



4.ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิด 19 อย่างปลอดภัย และสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างครอบคลุมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา





          การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานว่า เข็ม 1 และ เข็ม 2 มีการฉีดไปเข็มละ 10 ล้านคน ส่วนการฉีดเข็มสาม มีการฉีดไปแล้ว 4,125,226 คน คิดเป็นร้อยละ 32.5 ยังไม่ได้ฉีดอีกจำนวนมาก ขอให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนใจไปฉีดวัคซีน เนื่องจาก หากมีการติดเชื้อ มีอาการป่วย จะทำให้ต้องใช้เตียง และเครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการฉีดในกลุ่มเด็ก ที่ต้องเร่งฉีดให้ได้มากขึ้น เข็มกระตุ้นในกลุ่มเด็กก็ยังน้อย หลายประเทศสามารถเปิดประเทศได้ เนื่องจาก มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น



 



         ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากการเก็บข้อมูลเดือนม.ค.-ก.พ.65 พบว่า กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้น การฉีดวัคซีน 2เข็ม ลดอัตราการเสียชีวิตได้ 6เท่า หากฉีดวัคซีนเข็ม 3 ลดอัตราการเสียชีวิตได้สูงถึง 41 เท่า ที่สำคัญต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุให้ได้ 70% ก่อนสงกรานต์



#โรคประจำถิ่น



#โควิด19



 

ข่าวทั้งหมด

X