*ครม.แก้ไขกม.สรรพสามิต/รวมคดี "ยิ่งลักษณ์-บุญทรง" ฟ้องศาลปกครอง/ขยายผลสอบเหตุระเบิดลานจอดรถศาล*

10 มีนาคม 2558, 08:21น.


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ พิจารณาแก้ไขกฎหมายสรรพสามิต-พ.ร.บ.สลากตามที่กระทรวงคลังเสนอ  รวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์จะเสนอตัวอย่างแท็บลอยด์ 12 หน้า ที่จะพิมพ์เผยแพร่ผลงานรัฐบาลให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา



นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่าเป็นการนำเสนอก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา เพื่อให้มีความทันสมัย รัดกุม และครอบคลุมเพิ่มขึ้น ทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขายสลากฯ เกินราคา โดยจะกำหนดให้สำนักงานสลากฯ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ซื้อ



ส่วนการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิต สาระสำคัญยังคงเป็นไปตามเดิมการรวมกฎหมายต่างๆ ของกรมสรรพสามิต 7 ฉบับ ให้เป็นฉบับเดียว ปรับปรุงกระบวนการเก็บให้มีประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีจากฐานราคาหน้าโรงงาน หรือ ราคาสำแดงนำเข้า (ซีไอเอฟ) มาเป็นราคาขายปลีก ซึ่งนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า จะทำให้มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีปีละ 4 แสนล้านบาท ก็จะเก็บเพิ่มขึ้น 1-1 แสน 2 หมื่นล้านบาท



นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูข้อกฎหมายในการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า กำลังพิจารณา นำคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในนโยบายรับจำนำข้าวจนสร้างความเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก ยื่นฟ้องรวมไปที่ศาลปกครอง



ในวันนี้ นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีสลายการชุมนุม ปี 2553



ด้าน นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางคน เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอต่ออายุการทำงานว่า  เคารพการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ส่วนตัวเมื่อหมดวาระการทำงานในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ก็พร้อมออกจากตำแหน่งตามวาระ โดยคณะกรรมการ ที่จะหมดวาระ 5 คน ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. พ้นวาระเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วน นายวิชา มหาคุณ, นายวิชัย วิวิตเสวี, นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี เดือนกันยายนนี้



และจากเหตุคนร้าย 2 คน ลอบปาระเบิดสังหาร ชนิดอาร์จีดี-5 ที่บริเวณลานจอดรถ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งทหารสามารถคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ได้ทันที คือนายยุทธนา เย็นภิญโญ มือปาระเบิด กับนายมหาหิน ขุนทอง คนขี่รถจักรยานยนต์ ต่อมามีการควบคุมตัวน.ส.ณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง แฟนของนายมหาหิน และ น.ส.ธัชพรรณ ปกครอง แฟนของนายยุทธนา ที่อ้างว่าได้รับการว่าจ้างจาก “เดียร์” สมาชิกกลุ่มเสรีชน ที่ออสเตรเลีย  เพื่อหวังดึงองค์กรสหประชาชาติ เข้ามาปฏิรูปการเมืองไทย ทั้งยังพบหลักฐานที่โยงไปถึง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.สส. และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. ด้วยนั้น



ทางพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ระบุว่า เหตุการณ์นี้คนร้ายเป็นขบวนการเดียวกันกับเหตุระเบิดแสวงเครื่อง 2 จุด บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม กับหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะมีการก่อเหตุอีกหลายจุดในวันที่ 15 มีนาคม



ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า คนร้ายมุ่งหวังสร้างความปั่นป่วน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาก็ยังมีบทบาทอยู่



ขณะที่พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.สส. เปิดแถลงยอมรับว่ารู้จักกับผู้ก่อเหตุ แต่เป็นเพราะเมตตาธรรมของตนเอง เพราะเคยเป็น ผบ.ทบ. เวลาที่มีใครมาหา เพราะความเดือดร้อนใจ ก็ดูแลไปตามอัตภาพ โดยนายยุทธนา หนึ่งในผู้ต้องหา ก็เคยมาหา มาขอเงินและขอข้าวกิน เมื่อนานมาแล้ว ทั้งจะมีการฟ้องร้องผู้ที่ถามนำผู้ต้องหาเพื่อเชื่อมโยงความเกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจะไม่หนีไปไหน



ส่วนความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะประธานอนุ กมธ. การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดของประชาชน และ กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 1 เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พบประเด็นที่น่าสนใจก็คือประเด็นกองทุนยุติธรรม เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม , กรรมการองค์กรอิสระต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังการดำรงตำแหน่ง ตลอดจนเรื่องคณะกรรมการในการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ที่มีผู้เห็นด้วยถึงร้อยละ 92.6



ส่วนการประชุม กมธ.ยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เมื่อวานนี้มีการพิจารณาทบทวนบทบัญญัติเป็นรายมาตราจำนวน 315 มาตรา และพิจารณาเจตนารมณ์ของเนื้อหา ซึ่งเริ่มตั้งแต่มาตรา 1 พร้อมเรียงลำดับมาตราใหม่ และหากถึงเรื่องที่มีการแขวนไว้ในมาตราใดที่ยังไม่ชัดเจน ก็จะนำเข้ามาพิจารณาควบคู่กันไป



ที่น่าสนใจก็คือ มาตรา 41 ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคลในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยม ซึ่งมีการตั้งคำถามว่ากรณีของพระธรรมกาย ถือเป็นการขัดศาสนาบัญญัติที่กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ และมีการชี้แจงว่า กรณีธรรมกายถือเป็นการตีความหลักการของศาสนาพุทธผิดไปจากหลักการเดิม จึงถือว่าธรรมกายไม่ใช่พุทธศาสนา ส่วนธัมมชโยที่ตีความพุทธศาสนาไม่ตรงกับหลักการของพุทธศาสนาก็เป็นการตีความหมายที่ผิด จึงถือเป็นอีกนิกายที่เข้าข่ายเสรีภาพ เว้นแต่ในอนาคตจะมีการตั้งนิกายใหม่



*-*

ข่าวทั้งหมด

X