อธิบดีกรมวิทย์ฯ แจงโอไมครอน BA.2.2 ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าทำให้ฮ่องกงเสียชีวิตมากขึ้น

14 มีนาคม 2565, 14:34น.


          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน



-เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการตรวจสอบกลุ่มตัวอย่าง 2,000 ราย ส่วนมากเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนทั้งหมด เหลือเพียงเดลตา 6 ราย  คิดเป็นสัดส่วนโอไมครอนร้อยละ 99.7 มีความชัดเจนแล้วเรื่องการแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก



-สายพันธุ์โอไมครอนพบการกลายพันธุ์ BA.1 และBA.2 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 67.6  ไทยยังไม่พบสายพันธุ์ BA.3  



          กรณีที่มีข่าวเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 เตือนไทยเฝ้าระวัง  นพ.ศุภกิจ ชี้แจงว่ายังไม่ต้องกังวล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีศักยภาพในการติดตาม ขณะที่ สายพันธุ์นี้ยังไม่ได้ถูกกำหนด (assigned) และยังไม่ได้ตั้งชื่อ คาดว่า อีก 2-3 วัน อาจจะเห็นก็ได้ ซึ่งสายพันธุ์นี้พบมากในฮ่องกงและสหราชอาณาจักร และมีการให้ข่าวโดยบางหน่วยงานว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงในฮ่องกง เกิดจากสายพันธุ์นี้ แต่ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การกลายพันธุ์ S:I1221T ทำให้เพิ่มพยาธิสภาพในการทดสอบทางห้องปฎิบัติการหรือในสัตว์ทดลอง





 





          อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อและการแพร่ได้เร็ว จะทำให้ผู้เสียชีวิตมากขึ้น เป็นการติดเชื้อในช่วงก่อนหน้านี้ ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปได้ว่าเกิดจากสายพันธุ์ BA.2.2 ต้องใช้เวลาพอสมควร  จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกง คาดว่า ระบบการรักษาพยาบาล ระบบสุขภาพ และ โรงพยาบาลรองรับไม่เพียงพอ ทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ใหม่ ในส่วนของไทย ขอให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของกลุ่ม 608 ขอให้คนที่จะกลับไปบ้านในช่วงสงกรานต์ทำให้ตัวเองปลอดเชื้อ



         ด้านนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ฮ่องกง มีประชากร 7.6 ล้านคน ในช่วง 7วันที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อประมาณ 250,000 คน สูงกว่าเดิมที่เคยติดเชื้อ 50,000คน  ที่สำคัญมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 1,900 ราย ถือว่าผิดปกติกว่าทุกประเทศที่เผชิญกับโอไมครอน ดังนั้นต้องตามต่อ จะสรุปในตอนนี้ไม่ได้ เท่าที่ประเมินพบว่าต้องมาดูเรื่องการเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุและการฉีดวัคซีน



         ความคืบหน้าเรื่องสายพันธุ์ BA.2.2



1.ความสามารถในการแพร่: จากข้อมูลทางระบาดวิทยา ไม่มีข้อมูลว่าแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น



2.ความรุนแรงของโรค : ไม่มีข้อมูลว่าอัตราการป่วยและอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยามาสนับสนุนว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนที่มีการกลายพันธุ์ S:I1221T มีอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอไมครอนอื่นๆ



3.ผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่มีข้อมูลว่าการกลายพันธุ์ S:I1221T มีผลให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง หรือ หลีกหนีวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอไมครอนสายพันธุ์อื่นๆ



4.ระยะฟักตัวและระยะเวลา Quarantine เนื่องจาก ไม่มีข้อมูลแต่การกลายพันธุ์นี้ไม่ควรส่งผลต่อการฟักตัวหรือระยะแพร่เชื้อของสายพันธุ์นี้



*สรุปว่า สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ยังไม่ถูกประเมินว่าเป็นสายพันธุ์น่ากังวลหรือเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังจากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน และยังไม่มีการพิจารณาจากองค์กรควบคุมโรคใดที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสายพันธุ์นี้ เนื่องจาก ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือ การหลีกหนีวัคซีน ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระวังทุกสายพันธุ์ทั้งวิธีการตรวจเฉพาะจุดกลายพันธุ์และตรวจระดับเบสทั้งตัว



          มีรายงานว่า ในส่วนประเทศไทยกำลังวิเคราะห์ว่า มีผู้ติดเชื้ออาการใกล้เคียงสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 มี 4 คน เป็นต่างชาติ 1 คน ที่เหลืออีก 3 คน เป็นคนไทย อาการป่วยไม่พบปัญหาอะไร และยังไม่ชัดว่าจะใช่หรือไม่ ขอรอผลวิเคราะห์ที่จะออกมาในเร็วๆ นี้





#โอไมครอนกลายพันธุ์



#กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์



 

ข่าวทั้งหมด

X