ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่องโควิด-19 โอไมครอน สายพันธุ์ BA 2.2 โดยระบุว่า การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอไมครอนบนเกาะฮ่องกง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ BA.2.2 เนื่องจาก มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น
ในส่วนของไทยในปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 แต่จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในประเทศสิงคโปร์พบ 11 คน แต่เพื่อไม่ประมาท ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่า จะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจคัดกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC) รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) โดยใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล
ในส่วนการระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอไมครอนบนเกาะฮ่องกง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ "BA.2.2" หรือ B.1.1.529.2.2 ที่มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ "S:I1221T" และการกลายพันธุ์ตรงยีน "ORf1a: T4087I" โดยมีการซับมิทรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 ที่สุ่มตรวจได้ที่ฮ่องกงขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" ประมาณ 363 ตัวอย่าง และสุ่มพบการแพร่ระบาดในอังกฤษประมาณ 200 ตัวอย่าง เช่นกัน
การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นท่านที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนควรรีบไปฉีด

ที่น่ากังวล คือ จากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอไมครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเที่ยบกับอันดับสองประเทศลัตเวียจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้เคียงกันคือ 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ ประเทศไทย อยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ก็ปรากฏว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 บนเกาะฮ่องกงสูงมาก คือ มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7คน และ 0.7 คน ตามลำดับ สรุปว่า ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการะบาดของสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2
ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ
1. BA.2.2 มีกลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส
ในเบื้องต้น ทราบแล้วว่า BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ไป 2 ตำแหน่งที่ไม่พบในสายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ คือ "S:I1221T" และ "ORf1a: T4087I"
2. BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่
3. BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิด-19 ได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่
4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่
5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอไมครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ
6. ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก
ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามผู้ป่วย BA 2.2 ในฮ่องกงพบว่าส่วนหนึ่งเป็นการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ส่วนการเพิ่มจำนวนขึ้นของ BA 2.2 ในสหราชอาณาจักร อาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ BA.2.2 ได้
#โอไมครอน
CR:Center for Medical Genomics