การผลักดันให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น บนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของทุกคนและเศรษฐกิจของประเทศรุดหน้า ไม่ยึดติดไปไหนไม่ได้กับภาวะโรคระบาด ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็ใช้นโยบายนี้เช่นกันในการเปลี่ยนผ่านโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น แม้จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้วยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคอยู่ ทั้งใส่หน้ากาก เลี่ยงการอยู่ในหมู่มาก ล้างมือบ่อยๆ ตรวจ ATK ฉีดวัคซีน ทำให้อัตราเสี่ยงลดลง
ส่วนแผนรณรงค์เร่งฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นช่วงก่อนสงกรานต์ กลุ่มเป้าหมาย 608 ให้มากที่สุด เนื่องจากผู้เสียชีวิตมากกว่า 95% ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน และเป็นกลุ่ม 608 ซึ่งตอนนี้ยังมีผู้สูงอายุอีก 2 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีน ส่วนเข็ม 4 เราพร้อมฉีดให้โดยเฉพาะคนที่สัมผัสผู้คนมากมาย เช่น ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ พนักงานห้าง ร้านค้า มาแจ้งได้ โดยเว้นจากเข็ม 3 ช่วง 3 เดือนขึ้นไป
เป็นโรคประจำถิ่นต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อย่ากังวลกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเราไม่ได้เอามาปราบจลาจลหรือป้องกันการก่อความไม่สงบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเรื่องการสู้รบเลย เป็นเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาด จะเห็นว่าไม่เคยมารบกวนวิถีชีวิตประชาชน ยืนยันว่านายกฯ ก็ไม่ได้ต้องการให้มีสถานการณ์ฉุกเฉินแม้แต่น้อย แต่ สธ.บอกให้คงไว้ก่อน เพราะมีเรื่องการบริหารสถานการณ์ชายแดน การขอความร่วมมือฝ่ายมั่นคงเมื่อระบาดมากๆ สธ.ไม่สามารถสั่งการข้ามหน่วยงานให้ทำงานทันที ไม่ใช่ไม่มีความร่วมมือ แต่เราต้องการให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้ความคุ้มครองกฎหมาย
ส่วนแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่ Endemic approach แบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) ดังนี้
ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้นเม.ย.) เรียกว่า Combatting เป็นระยะต่อสู้ ออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาดและความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง
ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ
ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining ลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย และ
อีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องไม่เกิน 1 ในพันราย หรือ 0.1% ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ที่ 0.19-0.2% จึงยังไม่ถึงเป้าที่กำหนด เพราะคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น 608 ซึ่งต้องลดให้ได้ 0.1% หรือครึ่งหนึ่งถามถึงการเตรียมใช้ UCEP COVID Plus ที่จะเริ่มวันที่ 16 มี.ค.นี้ จะออกประกาศเมื่อไร นายอนุทิน กล่าวว่า มติ ครม.UCEP COVID Plus อาการสีเหลืองและแดงรับบริการแบบฉุกเฉิน เราไม่ได้ตัดสิทธิ เราทำให้คนควรได้เตียงและได้เตียง คนไม่ต้องเข้าถึงเตียงก็ดูแลตัวเองที่บ้าน เหมือนที่ผู้ติดเชื้อทุกคนไม่จำเป็นต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งประกาศตนลงนามไปแล้ว แต่จะมีการปรับแก้รายละเอียดวันที่ 16 มี.ค. แล้วจึงออกประกาศ โดยกลุ่มสีเขียวก็จะปรับไป รักษาฟรีตามสิทธิ
นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ยังกำหนดให้เร่งรัดการให้วัคซีนหัด หัดเยอรมัน ภายใต้โครงการกำจัดโรคหัด หัดเยอรมัน ตามพันธสัญญานานาชาติ ซึ่งกรมควบคุมโรคจะรับมาดำเนินการต่อไป และ การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ด้วยวิธี Test &Treat
#โควิด19
#โรคประจำถิ่น