นายกฯ เดินหน้าโครงการใช้พลังงานสีเขียว คาร์บอนต่ำ หลังไทย เจอ 'วิกฤตซ้อนวิกฤต'

09 มีนาคม 2565, 12:06น.


         พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พร้อมทั้งโพสต์เฟซบุ๊ก“ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha” ระบุว่า ขณะนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับเงินฝืด และความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกและราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าและค่าขนส่งที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย กระทบต่อค่าครองชีพของเราชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้



         ช่วงบ่ายนี้ จะมีการประชุม “วาระเร่งด่วน” ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อกำหนดมาตรการด้านพลังงาน และเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนโดยเร็วต่อไป



         สำหรับมาตรการด้านพลังงานในระยะยาว ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เช่น



1. โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริด “Hydro Floating Solar Hybrid System” ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ 70 สนามฟุตบอล มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ลักษณะสำคัญคือเป็น ทุ่นลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ รวมทั้งช่วยลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ประมาณ 460,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี และมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าดีกว่าการติดตั้งบนบกถึง 10-15% ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจ่ายกระแสไฟตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว และกลายเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานสะอาดที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนการสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแบบไฮบริดนี้ในเขื่อนอื่นๆทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้พลังงานสะอาดแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคให้กับประชาคมโลก และยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอีกด้วย





2.การขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น นโยบาย [email protected] ที่ต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ออก มาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1) เงินอุดหนุน : รถยนต์/รถกระบะไฟฟ้า 70,000 - 150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาท/คัน (2) ลดภาษีสรรพสามิต : รถยนต์ไฟฟ้าเหลือ2% และรถกระบะไฟฟ้าเหลือ 0% (3) มาตรการอื่นๆ : ลดอากรนำเข้า สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากร เป็นต้น



 





#มาตรการพลังงาน



CR:Facebook ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha



 



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X