กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.เพชรบุรี แก้ปัญหาทั้งน้ำแล้ง และ น้ำท่วม กรมชลประทาน มีแนวทางเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อชะลอน้ำ เช่น
-เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จากเดิม 710 ล้านลบ.ม. เป็น 760 ล้านลบ.ม.ในปี พ.ศ.2566
-ขุดลอกตะกอนดิน 10 ล้านลบ.ม.ออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ เพื่อให้รับน้ำได้ 42.2 ล้านลบ.ม. เต็มศักยภาพ
-โครงการจะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสาริกา ความจุ 11 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมทั้งนายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี และนายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรี เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์
การแก้ปัญหาภัยแล้ง ในอำเภอชะอำ กรมชลประทาน ได้จัดทำโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยใช้แรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติ เพื่อค่อยๆ ระบายน้ำข้ามลุ่มน้ำเป็นการจัดการอ่างเก็บน้ำเป็น “พวง” คือ เป็นกลุ่มของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่
1.อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
2.อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม
3.อ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย
4.อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด
5.อ่างเก็บน้ำห้วยทราย (ศูนย์พัฒนาฯ ห้วยทราย)
6.อ่างเก็บน้ำห้วยทราย-หุบกะพง ที่เดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง
ขณะนี้อ่างพวงทั้ง 6 แห่ง มีน้ำสะสมมากกว่า 80% แล้ว ทำให้ชาวนามีน้ำเพียงพอในการทำนาปรังได้ตลอดทั้งปี
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า จังหวัดเพชรบุรีจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม ก่อนหน้านี้ เมื่อฤดูฝนปี พ.ศ.2559-2561 เกิดปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองเพชรบุรี เนื่องจากมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชร 500-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) โดยหลักการแล้วเขื่อนเพชรต้องบริหารจัดการน้ำ ให้ไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรีไม่เกิน 150 ลบ.ม./วินาที
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เป็นการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำให้จังหวัดเพชรบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทาน จึงได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยกำหนดแผนก่อสร้าง 2 ระยะ คือ
-ระยะเร่งด่วน เป็นการปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 3 และคลองระบายน้ำ D.9 พร้อมอาคารประกอบ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ 100 ลบ.ม./วินาที ใช้งบประมาณ 1,100 ล้านบาท ทำให้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2562-2564 กรมชลประทาน สามารถระบายน้ำเลี่ยงเมืองป้องกันอุทกภัยเขตเมืองเพชรบุรีได้สำเร็จ
-ระยะยาว คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ.2563 ให้เปิดโครงการเตรียมความพร้อมปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 ซึ่งดำเนินการในเขตคลองเดิม (ไม่มีการจัดหาที่ดิน) ร่วมกับการปรับปรุงคลองลำห้วยยาง (มีการจัดหาที่ดิน) ไปเชื่อมต่อกับคลองระบายน้ำ D.1 เพิ่มเติม รวมระยะทาง 31 กิโลเมตร จะสามารถระบายน้ำได้ 350 ลบ.ม./วินาที รวมถึงคลองระบายน้ำ D.18 ระบายน้ำได้อีก 200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะดำเนินการ พ.ศ.2567-2571 งบประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยคลองระบายน้ำ D.1 จะสามารถป้องกันน้ำท่วมในรอบ 25 ปี คาดว่า จะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเพชรมากถึง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีได้
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงภัยแล้ง ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากน้ำท่วม มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนของชาวเพชรบุรี
#กรมชลประทาน
#เพชรบุรี
#ภัยแล้ง
#น้ำท่วม