พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19(ศบค.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะถึงช่วงสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวว่าในปีนี้ยังไม่งดจัดงาน ไม่ได้ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด จึงต้องพิจารณาแนวทางและดูการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงนี้ โดยจะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 18 มี.ค.65 โดย 6กระทรวงหลักจะต้องมีการประชุมถึงมาตรการพร้อมกัน ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กระทรวงวัฒนธรรม
พื้นที่เสี่ยงที่อาจจะมีการติดเชื้อในช่วงสงกรานต์เริ่มตั้งแต่การเดินทาง การทำกิจกรรม การทานอาหารร่วมกัน สาดน้ำ การจัดกิจกรรมรื่นเริง สถานที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ขนส่งสาธารณะ สถานีขนส่ง เครื่องบิน รถโดยสารประจำทาง รถตู้ ปั๊มน้ำมันทุกจุด จุดพักรถ บ้าน ร้านอาหาร ศาสนสถาน วัด สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ขอให้ลูกหลานที่จะไปหาญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ในวันสงกรานต์ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และขอให้พาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเทศกาลสงกรานต์ด้วย
กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 2,803 คน วันนี้ในที่ประชุมศบค.กรุงเทพมหานคร รายงานพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหม่ เป็นคลัสเตอร์การก่อสร้าง ในพื้นที่เขตคลองสามวา
ส่วน 5 เขตที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ หลักสี่ 471 คน บางซื่อ 187 คน หนองแขม 67 คน วัฒนา 44 คน และ ดินแดง 38 คน
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อในพื้นที่ จ.ตาก และ สระแก้ว เนื่องจาก มีแรงงานลอบเข้ามาเพิ่มมากขึ้น
วันนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 65 ราย สูงที่สุดในการระบาดระลอกนี้ พบว่า อายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิต คือ 75 ปี ผู้เสียชีวิต 97 % มีอายุมากกว่า60ปี มีโรคเรื้อรัง พบว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 17 ราย ภาคกลาง ภาคตะวันออก15 ราย กรุงเทพมหานคร 7 ราย น้อยที่สุด อยู่ที่ภาคเหนือ 6 ราย และพบว่า ผู้เสียชีวิต 65% ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย
นอกจากนี้ ยังต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องปัจจัยร่วมที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต คือ โรคประจำตัว ที่พบจำนวนมาก เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคไต ไตวายเรื้อรัง ภาวะติดเตียง อ้วน นอกจากนี้ พบว่าเด็กเล็กไม่มีภูมิติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ช่วงนี้ปิดเทอม มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ฝากให้ผู้ปกครองช่วยดูสถานที่ที่เด็กๆไปทำกิจกรรม เช่น ร้านเกม ตู้เกม และขอให้สังเกตอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ และตรวจ ATK ทันทีเมื่อต้องสงสัย และขอให้พาเด็กเล็กไปฉีดวัคซีน
ในที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ข้อมูล จาก Worldometer พบว่า
-การเสียชีวิตทั้งในต่างประเทศ สหรัฐฯ ยุโรป และหลายประเทศในเอเชีย ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน น้อยกว่า เดลตา และวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยทำให้การเสียชีวิตลดลง
#โควิด19
แฟ้มภาพ