สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนลุ้นศาลล้มละลายนัดตัดสิน20มี.ค.
769
https://www.js100.com/en/site/news/view/11550
COPY
07 มีนาคม 2558, 19:34น.
หลังการประชุมสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเพื่อหาแนวทางรับมือคำตัดสินของศาลล้มละลายที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม 2558 นี้
นาย ไพโรจน์ จำลองราษฎร์ กรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยว่า ต้องดูคำพิพากษาของศาลว่าจะเป็นไปในทางใด ซึ่งเมื่อมีคำพิพากษาแล้วจะไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก หากศาลอนุมัติให้ฟื้นฟู สหกรณ์ฯก็จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่ยื่นไปให้ ซี่งจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จสมบูรณ์เพิ่มเติม โดยขณะนี้แผนที่ยื่นไปยังไม่สมบูรณ์ แต่จะมีเงินสดสะสมจำนวนหนึ่งที่จะนำมาช่วยสมาชิกก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยจะให้กู้ได้ไม่เกินรายละ.50,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี แต่หากศาลมีคำพิพากษาล้มละลายก็จะต้องให้พนักงานบังคับคดีเข้าทำแทนและสหกรณ์ฯจะถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด ซี่งพนักงานบังคับคดีจะนำทรัพย์สินต่างๆไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือ ประชาชนที่เป็นสมาชิกที่ยื่นเรื่องฟ้องร้องนั่นเอง
ส่วนวันที่ 16 มีนาคม 2558 ที่เป็นวันที่ศาลแพ่งนัดไกล่เกลี่ยกรณีที่สหกรณ์ฯยื่นฟ้องวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในกรณียักยอกทรัพย์กว่า 818 ล้านบาทนั้น นาย ไพโรจน์ ระบุว่าเงินดังกล่าวเป็นการสั่งจ่ายเช็คจำนวน 7-8 ฉบับที่นาย ศุภชัย เป็นผู้สั่งจ่ายทั้งหมด โดยชื่อบัญชีเป็นชื่อสหกรณ์ฯซึ่งเงินนี้สามารถจำแนกได้เป็นสามส่วน ส่วนพระธัมมชโยเป็นเงินราว 600 ล้านบาท ส่วนวัดพระธรรมกาย 200 ล้านบาท และยังมีอีกส่วนเป็นเงินที่โอนไปให้พระลูกวัดวัดพระธรรมกายที่เป็นผู้ช่วยพระธัมมชโยและพระรูปอื่นอีก 100 กว่าล้าน ซึ่งในส่วนของพระลูกวัดนี้จะมีการฟ้องร้องเรียกเงินต่างหากอีกหนึ่งคดี รวมแล้วจะเป็นเงินราว 938 ล้านบาท
โดยนาย ไพโรจน์ เชื่อว่า การฟ้องร้องคดีในวันที่ 16 มีนาคมนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เงินครบ และยังไม่ทราบว่าจะได้เงินคืนจำนวนเท่าใด เนื่องจากเมื่อมีการโอนเงินให้กับวัดแล้ว เงินที่โอนจะตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งไม่สามารถบังคับให้วัดคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ ดังนั้นสหกรณ์ฯต้องบีบบังคับกับพระธัมมชโยเอง ซึ่งเชื่อว่าพระธัมมชโยจะไม่คืนเงินง่ายๆแน่นอน ซึ่งในวันที่ 16 และ 20 มีนาคม จะมีตัวแทนราว 3 คนเดินทางไปฟังคำตัดสินด้วย
นอกจากนี้นาย ไพโรจน์ ยังเล่าว่า มีเงินอีกสองกลุ่มที่นาย ศุภชัย ยักยอกนำออกจากสหกรณ์ไป ซี่งก็คือเงินจำนวน 1,340 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยที่นำออกไปในรูปแบบตั๋วแลกเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา ซึ่งตัวเองเชื่อว่าสหกรณ์นี้มีส่วนรู้เห็นกับนาย ศุภชัย ในการยักยอกทรัพย์และมีเงินของสหกรณ์ฯอยู่ในสหกรณ์ฯเครดิตยูเนี่ยนรัฐประชาจริง ส่วนเงินกลุ่มสุดท้ายจะมีราว 12,000 ล้านบาท แบ่งได้เป็นสองกลุ่มย่อยคือ กลุ่มแรกที่นาย ศุภชัย นำออกไปในรูปแบบเช็คที่เป็นชื่อสหกรณ์ฯกว่า 870 ฉบับให้กับบริษัทเอกชน 27 บริษัท ที่มีทั้งบริษัทปลอมและบริษัทที่นาย ศุภชัย มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอยู่และรวมถึงบริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) ที่มีนาย สถาพร วัฒนาศิรินุกูล อดีตพระวัดพระธรรมกายทดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท เอส ดับบลิว ที่นาย ไพโรจน์ เชื่อว่ามีความสนิทกับนาย ศุภชัย ด้วย ส่วนกลุ่มที่สองอีก 3,298 ล้านบาทนั้น นาย ไพโรจน์ ระบุว่า น่าจะเป็นกลุ่มที่ตามเส้นทางการเงินได้ยากที่สุด เพราะนาย ศุภชัย ทยอยเบิกถอนไปในรูปแบบเงินสดผ่านหน้าเคาน์เตอร์ทั้งหมด จึงไม่สามารถรู้ได้ว่านำเงินไปให้ผู้ใด
นาย ไพโรจน์ ยังเล่าด้วยว่า เหตุที่นาย ศุภชัย สามารถทยอยนำเงินออกได้มากมายขนาดนี้ เนื่องจากนาย ศุภชัย ใช้เวลายักยอกทรัพย์เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2552-2557 โดยนาย ศุภชัย เริ่มดำรงตำแหน่งประธานในปี 2549-2553 ก่อนที่นาย มณฑล กันล้อม ซี่งดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมการสหกรณ์ฯก่อนหน้าและมีความสนิทกับนาย ศุภชัย จะมารับช่วงต่อในปี 2553-2555 จากนั้นนาย ศุภชัยเข้ามารับตำแหน่งเดิมในปี 2555 จนถูกปลดออกในที่สุด ซึ่งตามนโยบายของสหกรณ์ฯจะมีการเลือกประธานทุกๆ 2 ปี โดยประธานจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระจึงจะกลับเข้ามาเป็นประธานใหม่ได้ ทำให้นาย ศุภชัย ให้นาย มณฑล ทำหน้าที่แทนในฐานะนอมินี พร้อมระบุด้วยว่านาย ศุภชัย เป็นผู้มีอิทธิพลในช่วงหนึ่งจึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่กล้าเข้ามาเกี่ยวข้องและตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบได้
ส่วนตัวนาย ศุภชัย ขณะนี้ก็อาศัยอยู่ที่ตึก ยู ทาวเวอร์ ศรีนครินทร์ ชั้นดาดฟ้า ซึ่งสหกรณ์ฯกำลังทำเรื่องฟ้องร้องไล่ให้ออกจากตึกดังกล่าวด้วย
ส่วนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น ขณะนี้มีสมาชิกราว 56000คน ร้อยละ 80 เป็นผู้สูงวัยจะมีการประชุมของสหกรณ์ในทุกวันเสาร์แรกของเดือนด้วย โดยขณะนี้สหกรณ์ฯมีเงินสะสมอยู่ราว 200 ล้านบาท
ข่าวทั้งหมด