ความคืบหน้ากรณีที่กองกำลังรัสเซียเข้าควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของอดีตโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ทางภาคเหนือของยูเครน และจับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกันตั้งแต่เมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) หรือในวันแรกของการบุกโจมตียูเครน
ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ทวีตข้อความระบุว่า เจ้าหน้าที่ยูเครนสละชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2529 และเขาเห็นว่าการที่รัสเซียยึดเชอร์โนบิลคือการประกาศสงครามกับทั้งยุโรป
ด้านกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ออกแถลงการณ์ระบุว่า หากปล่อยให้รัสเซียยึดเชอร์โนบิลต่อไป วิกฤตนิวเคลียร์ก็อาจเกิดขึ้นได้อีกครั้งในปีนี้
ส่วนทำเนียบขาวสหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาไม่พอใจกับการที่รัสเซียยึดเชอร์โนบิลและจับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน เพราะคือการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งอาจเป็นการทำลายความพยายามในการบำรุงรักษาและปกป้องสถานที่ซึ่งมีกากนิวเคลียร์ นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า สหรัฐฯขอประณามการกระทำและเรียกร้องให้ปล่อยพวกเขา
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล มีชื่อทางการคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์วลาดิมีร์ เลนิน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2515 ในยุคสหภาพโซเวียต และเปิดใช้งานเมื่อปี 2520 ตั้งอยู่ใกล้เมืองเชอร์โนบิล ทางเหนือของยูเครน และห่างจากชายแดนของประเทศเบลารุสเพียง 16 กิโลเมตร
ในปี 2529 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ขัดข้องและระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100 ราย แต่กากนิวเคลียร์ที่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ของยุโรป ประชาชนหลายหมื่นคนทั้งในยูเครน เบลารุส และรัสเซียได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ
ส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก 3 เครื่องมีการเดินเครื่องจนถึงปี 2543 จึงปิดการทำงาน แต่ระดับของกัมมันตรังสีในพื้นที่ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะบริเวณใกล้ที่ตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
...
#เชอร์โนบิล
#รัสเซีย