นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) เปิดเผย ผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุมว่า นายกฯ ขอบคุณและให้กำลังใจทุกคนที่ทำงานหนัก ให้ความสำคัญกับ Call Center และ เจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคมที่ช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการดูแลผู้ติดเชื้อที่รอความช่วยเหลืออยู่ที่บ้าน พร้อมย้ำให้สถานประกอบการปฎิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ผลการประชุมที่สำคัญในวันนี้
-ที่ประชุมศบค.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เสนอปรับรูปแบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 5 จากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR มาเป็นวิธีการตรวจด้วยการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยนักท่องเที่ยวต้องโหลดแอปพลิเคชัน หมอชนะ และส่งผลการตรวจด้วย
-นำร่องเปิดด่านทางบก ในพื้นที่ จ.หนองคาย อุดรธานี อ. สะเดา สงขลา พร้อมทั้งลดวงเงินประกันภัยจาก 5หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นไม่น้อยกว่า 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจาก มองว่า หากเป็นคนที่เดินทางมาทำธุรกิจ หรือ มาหาญาติพี่น้องเพียงวันเดียว อาจจะไม่คุ้ม ที่ประชุมมอบหมายให้เลขาฯสมช.ไปดูในรายละเอียดและประชุมเพิ่มเติมเพื่อให้มีมาตรการที่ดีกว่านี้ ส่วนเรื่องกีฬา เรือยอชต์ เรือสำราญ จะต้องผ่านระบบนี้ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันด้วย
-ศบค.คงพื้นที่สีและโซนจังหวัดเหมือนเดิม โดยพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) อยู่ที่ 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด
ข้อมูลที่ที่ประชุมศบค.พิจารณาในวันนี้ เป็นข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 จากทั่วโลกที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงตามตัวเลขผู้ติดเชื้อ ในส่วนของไทย จากข้อมูลรายสัปดาห์ พบว่า จากจำนวนประชากรล้านคน พบว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย น้อยกว่าหลายประเทศในแถบเอเชีย ต้องขอบคุณบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ดูแลรักษาอาการของผู้ป่วยอย่างดี
ส่วนกราฟเส้นคาดการณ์กับสถานการณ์จริง จะเห็นได้ว่า มาตรการการผ่อนคลาย ทำให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้น บางคนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เมื่อติดเชื้อจะมีอาการหนัก ดังนั้นขอให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น นายกฯ ชี้แจงในที่ประชุมขอให้สื่อสารทุกทาง ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก ขอความร่วมมือกันเต็มที่
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิตร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเรื่องอัตราการครองเตียงว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีอัตราการครองเตียง 49.1% อยากให้สำรองเตียงไว้ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มผู้ป่วยวิกฤต และป่วยหนัก ส่วนอาการน้อยๆ อยากให้อยู่ศูนย์พักคอยในชุมชน Community Isolation (CI) ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2.1 หมื่นกว่าราย ส่วนลงทะเบียนดูแลรักษาที่บ้าน (HI) มี 4.7 หมื่นราย ที่ประชุมเห็นความสำคัญของ CI โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานว่ามีเพียงพอ ขณะนี้มี 31 แห่ง เตียงเหลือ 1.9 พันเตียง โดยจะเปิดเพิ่ม 9 แห่ง อีก 970 เตียง สามารถเปิดได้วันที่ 26 ก.พ.นี้ ทางสายด่วน 1669 ก็มาช่วย 1330 และเพิ่มคู่สายตามสำนักงานเขตขึ้นมาอีก
ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอในที่ประชุมว่า เมื่อปี 2563 มีค่าใช้จ่าย 3,841.15 ล้านบาท ส่วนปี 2564 ใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น 97,747.94 ล้านบาท ปี 2565 ของบประมาณเพิ่มในวงเงินใกล้กับปีที่แล้ว สัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP โควิด แยกผู้ป่วยเป็นกลุ่ม พบว่ากลุ่มสีเขียว เข้ารับการรักษาสูงถึง 88% สีเหลือง 11% และสีแดง 1% นายกฯ ยังคงให้สิทธิการรักษาพยาบาลฉุกเฉินตามเดิม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เลขาฯสปสช.จะนำข้อมูลมารายงานอีกครั้ง
อธิบดีกรมอนามัย รายงานเรื่องการติดเชื้อในกลุ่มเด็กและอัตราการเสียชีวิตว่ามีจำนวนไม่มาก สำหรับการเกิดเรียนระบบ On Site พยายามจะไม่ปิดโรงเรียน หากมีความเสี่ยงสูง และเสี่ยงต่ำ ก็ยังสามารถเรียนได้ ด้วยการจัดโซน Quarantine ให้กลุ่มที่ป่วยทั้งนักเรียนและครูเรียนรวมกัน ส่วนการสอบ ที่ประชุมศบค. ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องงดสอบ ถ้าไม่ได้ป่วยหนัก ขอให้ดูสถานที่สอบในลักษณะที่โล่ง โปร่ง จะดีมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุม ชื่นชม จ.สกลนคร และ ชลบุรี ได้รับรางวัลจังหวัดที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรกลุ่มเสี่ยงปี 2564 สูงสุด
#ตรวจโควิดวันที่5
#ATK