กรณีที่เยอรมนีระงับการออกใบอนุญาตโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอร์ด สตรีม 2 (Nord Stream 2) ที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว (2564) ทำให้รัสเซียยังไม่สามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเลบอลติกได้นั้น นายรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด มีความจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินโครงการนอร์ดสตรีม 2 อีกครั้ง โดยเป็นขั้นตอน “การบริหารที่จำเป็น”
ท่อส่งก๊าซธรรมชาติระยะทาง 750 ไมล์ถูกสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ยูเครน และประเทศในสหภาพยุโรปหลายประเทศคัดค้านตั้งแต่แรกที่มีการประกาศโครงการในปี 2558 เพราะจะเป็นการเพิ่มอิทธิพลของรัสเซียในยุโรป เนื่องจากจะทำให้รัสเซียสามารถส่งก๊าซได้ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือมากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ในประเทศเยอรมนี/ปี และแม้ว่าก๊าซพรอม (Gazprom) จากรัสเซียจะเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวในโครงการ แต่เงินทุนครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทพลังงานในยุโรป 5 แห่ง คือจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และออสเตรีย
นายดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงของรัสเซีย ทวีตข้อความเตือนว่าในเร็ว ๆ นี้ ชาวยุโรปจะจ่ายเงิน 2,000 ยูโรสำหรับก๊าซธรรมชาติ 1,000 ลูกบาศก์เมตร
ส่วนนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีการต่างประเทศรัสเซีย แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ใส่ใจมาตรการของเยอรมนี โดยระบุว่า นานาชาติข่มขู่รัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรทุกรูปแบบมาเป็นเวลานาน และในเวลานี้ “เราเคยชินแล้ว”
ทั้งนี้ รัสเซียมีความมั่นใจว่า ยุโรปยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก ส่วนหนึ่งคือการที่ยุโรปมีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือ 2603 ซึ่งก๊าซธรรมชาติถูกระบุว่าเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญต่อระบบพลังงานหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล
....
#รัสเซีย
#เยอรมนี
#นอร์ดสตรีม2