สื่อท้องถิ่นของเมียนมา รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาว่า คดีที่รัฐบาลแกมเบียในทวีปแอฟริกาเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ กล่าวหา เมียนมา เป็นจำเลยในเดือนธันวาคม 2562 ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของเมียนมาในปี 2560 เข้าข่ายละเมิดสนธิสัญญาการห้ามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ปี ค.ศ.1948 ของสหประชาชาติ
ในตอนแรก นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาในขณะนั้น เป็นหัวหน้าทีมของเมียนมาที่รับผิดชอบการสู้คดีด้วยตนเองในการไต่สวนนัดแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ขอให้ตัดสินยกฟ้อง แต่ศาลเห็นว่าคดีมีมูลพอพิจารณาต่อไป จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้าน และนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกในวันนี้(21 กุมภาพันธ์ 2565) แต่ต่อมา กองทัพเมียนมาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว พร้อมทั้งดำเนินคดีกับนางซูจีในหลายข้อหา รวมถึงข้อหาทุจริต
รัฐบาลเมียนมาจึงแต่งตั้งทีมสู้คดีชุดใหม่ นำโดยนายโก โก ฮเลียง รัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างประเทศและนางธิดา อู อัยการสูงสุดของเมียนมา ซึ่งจะให้การสืบพยานจำเลยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากนั้น ฝ่ายโจกท์คือ รัฐบาลแกมเบีย นำพยานเข้าสืบต่อศาลในวันพุธนี้(23 กุมภาพันธ์ 2565)
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่าขั้นตอนการพิจารณาอาจจะใช้เวลาหลายปีจึงจะดำเนินการเสร็จจนถึงมีคำพิพากษา สำหรับศาล ICJ ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐสมาชิกยูเอ็น คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันให้รัฐสมาชิกปฏิบัติตาม แต่ช่องโหว่ คือ ไม่มีหน่วยงานที่บังคับฝ่ายที่แพ้คดีให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล
#เมียนมา
#ศาลICJ
#คดีชาวโรฮิงญา