ลงนามแล้ว! รองนายกฯ-รมว.สธ.ระบุปรับโควิด-19 รักษาตามสิทธิ อาการฉุกเฉิน ใช้ UCEP Puls

21 กุมภาพันธ์ 2565, 12:57น.


          การปรับโรคโควิด-19 ไปสู่การรักษาตามสิทธิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้โรคโควิด-19 รักษาตามสิทธิ ตามที่ นพ.ธเรศ  กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้นำเสนอขึ้นมา โดยจะมีผลเริ่มวันที่ 1 มี.ค.นี้ พร้อมทั้งได้กำชับให้อธิบดี สบส.ไปชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิหรือยกเลิก แต่เป็นการกำหนดขั้นตอนและมาตรฐานให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดการใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากมีอาการฉุกเฉินวิกฤตยังสามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาทุกที่ได้ ส่วนอาการฉุกเฉินใช้ UCEP Plus ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนออกมา แต่ในทางปฏิบัติคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ  ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.โควิดจะไม่ใช่โรคฉุกเฉินหรือไม่  นายอนุทิน กล่าวว่า คำจำกัดความคือโรคที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละคน



          ส่วนการเตรียมยารักษา นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้มีความจำเป็นต้องเพิ่มยาฟ้าทะลายโจรมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่ออกเลย ถ้ารับยาฟาวิพิราเวียร์ไปก็เหมือนกับเกินขนาน ซึ่งฟ้าทะลายโจรสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนฟาวิพิราเวียร์เป็นยาฆ่าไวรัส ถ้าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหลายกรณีจะใช้ฟ้าทะลายโจร



          ส่วนการเตือนภัยโควิดยังคงไว้ที่ระดับ 4 ใช่หรือไม่ ต้องยกเป็นระดับ 5 หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยัง ตรงนี้เป็นอำนาจของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.



          ส่วนสถานการณ์เตียงไอซียูเริ่มเต็ม นายอนุทิน กล่าวว่า จากการตรวจสอบกับปลัด สธ.ทุกเช้า ยืนยันว่า ระบบการสาธารณสุขยังสามารถให้การดูแล ต้องไปดูเรื่องประเภทของคนป่วย HI/CI เรามีกติกากำหนดไว้ว่าจะดูจากอาการของผู้ป่วย ว่าระดับไหนจะได้รับการดูแลอย่างไร ถ้าคนที่ไม่แสดงอาการก็อยู่ HI/CI ซึ่งกรณีแยกกักไม่ได้ที่บ้าน เรามี CI ต้องผ่านเป็นขั้นตอนก่อน  กทม.ก็ยืนยันกับ สธ.ว่า HI/CI เขาพร้อม กทม.มีเตียง CI พร้อม ก่อนไปถึงฮอสปิเทล เรายังเตรียมโรงพยาบาลสนาม อย่างโรงพยาบาลปิยะเวทจะเอาอุปกรณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ของ โรงพยาบาลสนามปิยะเวทที่ตั้งอยู่ 200-300 เตียงมามอบให้ สธ. เราก็ขอให้คงโรงพยาบาลสนามไว้ก่อน ทาง ปตท.ที่เป็นผู้สนับสนุนหลัก ตนหารือไปเขาก็ยินดีคง รพ.สนามไว้ ที่ก็ยังไม่เต็ม อาจจะมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน เมื่อเช้าประสาน สปสช.ให้เพิ่มคู่สายที่จะรับลงทะเบียนจดแจ้งผู้ป่วยและดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้



          ส่วนจะมีการเสนอ ศบค.ในวันพุธนี้ เพื่อปรับมาตรการ Test&Go โดยลดการตรวจ RT-PCR ครั้งเดียว นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพิจารณากันอยู่ ซึ่งมีข้อมูลมาว่าไม่ทำให้เกิดแพร่ระบาดมากขึ้น ไม่ได้มีประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพระหว่างการทำหรือไม่ทำก็ไม่ต่างกันเท่าไร การทำ RT-PCR เป็นการเพิ่มภาระของผู้เดินทาง เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐ เพราะผู้เดินทางต้องเสียค่า RT-PCR เกือบพันบาท และมีค่าบวกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล และโรงแรม และต้องจองไปโรงแรม เป็นการเพิ่มภาระและขั้นตอน ตอนนี้ที่ได้รับการร้องเรียนมาคือประกันสุขภาพจะกำหนดอย่างไร ยิ่งกำหนดมากเบี้ยประกันก็สูงมากก็เป็นภาระ เราก็รับฟังทุกเรื่องและพยายามที่จะเร่งแก้ไข



#โควิด19



#บริหารจัดการได้



CR:แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X