สธ.ชี้แจง ดช.อายุ 12 ปี เสียชีวิตจากภาวะเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ ไม่ใช่วัคซีนโควิด

19 กุมภาพันธ์ 2565, 10:28น.


          กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีเด็กชายอายุ 12 ปี เสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่บังเอิญเกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน



          นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า เด็กชายอายุ 12 ปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 หลังฉีด 30 นาที ไม่มีอาการผิดปกติ เมื่อกลับบ้านมีอาการไข้ และปวดเมื่อยตามตัว ปวดขาข้างซ้าย



          วันที่ 28 มกราคม มีอาการปวดเข่า เดินไม่ถนัด เข้ารับการรักษาที่คลินิก แต่อาการไม่ดีขึ้น ปวดขาทั้งสองข้างและขาอ่อนแรงมากขึ้น จึงไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ตรวจพบมีไข้สูง ขามีรอยจ้ำเขียว ยกไม่ขึ้น ไม่พบรอยบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน แพทย์สงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จึงส่งต่อโรงพยาบาลกระบี่ ได้รับยาปฏิชีวนะและสารน้ำทางเส้นเลือด อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565



          ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเม็ดเลือดขาวสูง การเพาะเชื้อจากเลือดพบเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งผลการพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกับแพทย์ที่ดูแล สรุปว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ ร่วมกับติดเชื้อในกระแสเลือด (Septic arthritis, septic shock) โดยไม่พบการติดเชื้อบริเวณที่ฉีดวัคซีน



          ทั้งนี้ จากสถิติ ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 120 ล้านโดส อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยคือ อาการไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ได้แก่ อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) 79 ราย, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ(Myocarditis/Pericarditis) 31 ราย, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 6 ราย



          มีกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีน คณะผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาผลแล้ว 1,464 ราย จากรายงานทั้งหมด 2,081 ราย พบเป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุบังเอิญ 938 ราย เช่น เลือดออกในสมอง, ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง, ปอดอักเสบรุนแรง, ลิ่มเลือดอุดตันในปอด และโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 64 และมีกรณีที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาวัคซีน 4 ราย ในจำนวนนี้ 2 ราย เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ, 1 ราย แพ้รุนแรงร่วมกับภาวะช็อก และอีก 1 ราย มีอาการ Stevens- Johnson syndrome and Toxic epidermal necrolysis คือมีอาการผื่นแพ้รุนแรง บวมลอกบริเวณผิวหนังและเยื่อบุผิว 



          อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าวัคซีนโควิด 19 ที่ประเทศไทยนำมาฉีดให้กับประชาชนมีความปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต หรือป่วยหนักจากโรคโควิด 19 ได้ จึงขอให้ประชาชนที่เข้าเกณฑ์การฉีดวัคซีนไปรับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น



....



#กระทรวงสาธารณสุข



#วัคซีนโควิด

ข่าวทั้งหมด

X