นักวิจัยญี่ปุ่นเผยผลวิจัยห้องแล็บ ชี้ว่าไวรัสย่อยของโอไมครอน อันตรายพอๆกับเดลตา

18 กุมภาพันธ์ 2565, 16:32น.


          นายเคอิ ซาโตะ นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลการวิจัยใหม่โดยทีมนักวิจัยญี่ปุ่น เผยแพร่ผลวิจัยในไบโออาร์ไคฟ์ (BioRxiv) คลังเอกสารวิชาการด้านชีววิทยาแบบเปิด เพื่อให้สาธารณเข้าไปติดตามข้อมูลการวิจัยใหม่ๆอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งแยกย่อยมาจากไวรัสโอไมครอน ไม่เพียงแต่ระบาดเร็วกว่าไวรัสก่อนๆเท่านั้นแต่ยังอันตรายมากพอๆกับไวรัสเดลตา ทำให้คนไข้ป่วยหนักกว่าเดิม อีกทั้งหลบเลี่ยงประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือวัคซีนบูสเตอร์ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ช่วยลดการเจ็บป่วยในอัตราร้อยละ 74



          นอกจากนั้น ทีมวิจัยพบว่า ยารักษาโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ยาโซโทรวิแมบ (Sotrovimab) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal Antibody) หรือสร้างสารแอนตีบอดีจากเม็ดเลือดขาวไม่สามารถจะป้องกันไวรัส BA.2 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ



          นักวิจัยญี่ปุ่น พบว่า ไวรัส BA.2 กลายพันธุ์จากไวรัสดั้งเดิมที่พบครั้งแรกคือ ไวรัสที่พบในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของจีน ค่อนข้างมาก มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหลายสิบครั้ง จนกระทั่งแตกต่างจากไวรัสโอไมครอนดั้งเดิม ทั้งแตกต่างอย่างชัดเจนจากไวรัสก่อนๆเช่น อัลฟา,เบตา,แกมมาและไวรัสเดลตา



#นักวิจัยญี่ปุ่น



#ไวรัสโอไมครอน

ข่าวทั้งหมด

X