สธ.เตรียมจัดทำ UCEP PLUS ดูแลโควิด-19 ไม่ต้องกังวล ไอโมครอน สายพันธุ์ BA.2

17 กุมภาพันธ์ 2565, 14:54น.


          การปลดโควิด-19 ออกจากสิทธิ์บริการ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) หรือ การให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ใกล้บ้าน  นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ.ย้ำว่าไม่ได้ยกเลิก หรือให้โควิด -19 ออกจาก UCEP แต่เป็นการปรับปรุง จัดระบบ ปรับวิธีการให้สัมพันธ์กับโรค ให้สัมพันธ์กับอาการของผู้ป่วย สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือการถอดโควิด-19 ออกจากการเป็นโรคฉุกเฉิน เราอยู่กับโรคมา 2 ปีกว่า ประเทศไทย ไม่ได้มีผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเดียว แต่เรามีผู้ป่วยโรคอื่นด้วย ที่ต้องใช้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเหมือนกัน ถ้าบอกว่าป่วยโควิด-19 มา สามารถแซงคิวโรคอื่นได้ แบบนี้ ระบบสาธารณสุขรวน ต้องทำความเข้าใจกันว่า ถ้าป่วยโควิด-19 แล้วมีอาการรุนแรง เช่น หายใจไม่ได้ เหนื่อยหอบ ไอรุนแรง ที่มีการกำหนดไว้ ยังเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้เหมือนเดิม ให้การดูแลเหมือนเดิม และได้มีการกำหนดเป็น UCEP PLUS ในการดูแลด้วย ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือสีเขียว ให้รักษาแบบกักตัวอยู่บ้าน Home Isolation เพื่อให้มีเตียงสำหรับผู้ป่วยหนัก เราต้องบริหารทรัพยากร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด



         ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในนักเรียน นายอนุทิน เปิดเผยว่า ได้เร่งทำการฉีดอยู่ อย่าเชื่อคนด้อยค่าว่า วัคซีนซิโนแวค ฉีดเด็กไม่ได้ เพราะคนจีนทั้งประเทศ 2 พันล้านคน ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อ เสียชีวิต และไม่มีวัคซีนยี่ห้ออื่นในจีน เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าวัคซีนเขามีประสิทธิภาพ



           สำหรับประเทศไทย มีวัคซีนทุกยี่ห้อให้คนไทยได้เลือก หากไม่มีประสิทธิภาพ อย.ก็ไม่สามารถอนุมัติขึ้นทะเบียนได้ เราอนุมัติทุกยี่ห้อ แปลว่าต้องมีมาตรฐาน ต้องฟังสาธารณสุขเรื่องวัคซีน เราฟังข้อชี้แนะจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องโดยตรงที่อ้างอิงรับรองความปลอดภัย ต้องเชื่อวิชาการ อย่าไปเชื่อคนพูดลอย ๆ ไม่มีการอ้างอิง



         ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลกับสายพันธุ์ของโอไมครอน ไม่ว่าจะเป็น BA.1 BA.2 เพราะการป้องกันการรักษายังเหมือนเดิม ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และมีระยะห่าง และการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 เพราะการแพร่เชื้อของ BA .2 เร็วขึ้น แต่ความรุนแรง และการหลบภูมิคุ้มกันยังไม่ต่างจาก BA.1 โดยองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเฝ้าระวัง ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการแพทย์ ยังติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้ประชาชนกังวล คาดว่าความวิตกกังวลของประชาชนในขณะนี้เกิดจากข้อมูลจำนวนมาก



          ส่วนอัตราการเสียชีวิตของไทยต่ำกว่าต้นเดือนที่แล้ว จากเดิม 0.22 เหลือ 0.20 และถือว่าน้อยกว่าทั่วโลก โดยอัตราตายของทั่วโลก จากเดิมอยู่ที่ 2.2 ขณะนี้เหลือ 1.4 แต่คนเสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ จึงอยากเชิญชวนให้มารับวัคซีน



          ขณะเดียวกันบ้านคนหนุ่มสาวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยก็ขอให้ระวังระวังตนเองให้ดี เพื่อป้องกันคนในบ้านได้รับเชื้อเนื่องจาก ส่วนใหญ่สาเหตุการติดเชื้อในผู้สูงอายุมาจากการรับเชื้อจากคนในครอบครัว



 



#วัคซีนในเด็ก



#โควิด19

ข่าวทั้งหมด

X