สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สัปดาห์นี้ มีแนวโน้มติดเชื้อใหม่สูงขึ้น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมนายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา และ นพ. นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผอ.สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย แถลงข่าว กรณีการดูแลผู้สูงอายุ และศาสนสถานปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งการติดเชื้อและเสียชีวิตของผู้สูงอายุช่วงเม.ย. 2564 - ก.พ.2565 พบติดเชื้อ 237,759 คน ส่วนวันที่ 1 ม.ค. - 14 ก.พ. 2565 พบติดเชื้อ 34,918 คน จำนวนนี้เสียชีวิต 569 คน เฉพาะ ก.พ.เสียชีวิต 237 ราย อัตราป่วยของผู้สูงอายุอยู่ที่ 8-10% เท่ากับปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนเสียชีวิตของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 69% เป็น 76% จังหวัดที่พบการเสียชีวิตมักเป็นเขตเมือง เช่น กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และชลบุรี สาเหตุสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 50% เช่น บุคคลในครอบครัว ผู้ดูแลใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบการไปสถานที่แออัด
สำหรับผู้สูงอายุกว่า 9.8 ล้านคน รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จำนวนนี้ 3.3 ล้านคนรับครบ 3 เข็ม ส่วนอีก 2.2 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเลย จึงเน้นย้ำการป้องกันติดเชื้อด้วยมาตรการ VUCA รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ดูแลใกล้ชิด คนในครอบครัว , ป้องกันตนเองขั้นสุด เพราะทุกคนมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ , สถานประกอบการต่างๆ ใช้มาตรการ COVID Free Setting ให้คนไปใช้บริการมั่นใจ รวมถึง ศาสนสถานต่างๆ โดยเฉพาะวันมาฆบูชานี้ จะมีพุทธศาสนิกชนไปทำกิจกรรมที่วัดจำนวนมาก และเมื่อมีอาการสงสัยให้ตรวจ ATK
ทั้งนี้ จากการสำรวจอนามัยโพลกว่า 3 หมื่นราย พบว่า การสวมหน้ากากในวัดถูกต้อง 87% ขอให้ผู้ที่ยังสวมไม่ถูกต้องหรือไม่สวมให้สวมหน้ากากถูกต้องมากขึ้น ส่วนมาตรการที่ประชาชนอยากให้ สถานที่จัดงานคุมเข้มเพิ่มเติม พบว่า 67% เห็นว่าควรคัดกรองผู้เข้าร่วมว่ารับวัคซีนครบ 2 เข็ม 60% งด กิจกรรมรวมกลุ่ม 59% ตรวจ ATK หน้างาน มีผลตรวจใน 72 ชม. 50% ขอให้เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจจัดงาน นอกจากนี้ ยังขอให้ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ตรวจวัดการระบายอากาศ ภาพรวมวัด 2,997 แห่งทั่วประเทศมีการประเมินตนเอง พบ 93% ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรการความปลอดภัย ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์คือการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ห้องน้ำ ผู้ประกอบพิธีรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ การตรวจ ATK การทำบุญผ่านออนไลน์
นพ.นิธิรัตน์ กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ หากติดเตียง อายุมากกว่า 75 ปีไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือมีอาการรุนแรง ไข้สูง หอบเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รับการรักษาใน รพ. โดยประสาน 1330 ขอรับบริการสถานพยาบาลใกล้บ้าน หากอาการรุนแรงมากหรือวิกฤต โทร.1669 รับบริการฉุกเฉิน โดยระหว่างรอเตียง ผู้ดูแลดูเบื้องต้นได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย N95 เฟซชีลด์ ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส ใช้เวลาดูแลให้สั้นที่สุด แยกโซนจากคนอื่นในบ้าน ครอบครัว แยกของใช้ต่างๆ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอาการ เพื่อแจ้งสถานพยาบาลทราบ กรณีอาการรุนแรงมากขึ้น
ส่วนผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ติดบ้านสังคม อายุน้อยกว่า 75ปี ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย แยกกักตัวเองที่บ้านได้ ให้ขอรับบริการที่บ้าน โทร 1330 ต่างจังหวัดมีเบอร์แต่ละจังหวัด เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลจะติดต่อดูแลกลับ ขณะดูแลที่บ้าน 10 วันให้สังเกตอาการต่อเนื่อง วัดไข้ ออกซิเจนปลายนิ้ว ไข้สูงเกิน 39 องศา หรือออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 94% หายใจเร็ว หอบเหนื่อยให้รีบแจ้งสถานพยาบาลที่ดูแลเพื่อนำเข้าระบบการรักษาใน รพ.ต่อไป กรณีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวและติดแจ้ง อสม. ผู้ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่เข้ามาดูแลและเฝ้าระวังติดตามอาการได้
ด้าน นางเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า วันมาฆบูชามีการจัดกิจกรรมช่วงวันที่ 10-16 ก.พ. ซึ่งส่วนกลางกรมการศาสนาจัดงานที่วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีทั้งแบบออนไซต์ โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ต้องตรวจหาเชื้อ วัดไข้ และแบบออนไลน์ ให้ร่วมเวียนเทียน ส่วนภูมิภาคประชาชนไปร่วมกิจกรรมที่วัดได้ โดยขอให้ทำตามมาตรการ โดยขอให้วัดต่างๆ คัดกรองอุณหภูมิ จัดจุดล้างมือ รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร กำหนดเส้นทางเข้าออก ลงทะเบียน จัดระบบระบายอากาศ ผู้นำทางศาสนา เจ้าหน้าที่ คัดกรอง ฉีดวัคซีนครบ งดเว้นการรับประทานอาหารขณะประกอบพิธี หากมีอาหารเลี้ยงให้เป็นกล่องนำกลับไปรับประทานภายหลัง ผู้เข้าร่วมตรวจ ATK ฉีดวัคซีน 2-3 เข็ม ประเมินความเสี่ยงผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ส่วนกลุ่มเสี่ยงแนะนำให้ร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่บ้าน กรณีดอกไม้ธูปเทียนที่เป็นจุดเสี่ยงสัมผัสร่วม แนะนำให้นำมาเอง และขอให้งดการนำมาเวียนใหม่ อย่างไรก็ตาม หากใช้บริการดอกไม้ธูปเทียนของวัด เจ้าหน้าที่วัดที่จัดต้องใส่ถุงมือ ประชาชนเมื่อรับมาแล้วให้ฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อหรือหลังไหว้แล้วให้ล้างมือ เพื่อความปลอดภัย ลดการสัมผัส
#มาฆบูชา
#โควิด19