เตรียมพ้นUCEP! สธ.ย้ำโควิด-19 รักษาฟรีตามสิทธิ เลือกรพ.นอกสิทธิต้องจ่ายเอง

14 กุมภาพันธ์ 2565, 18:44น.


          กรณีโรคโควิดพ้นโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กล่าวว่า โควิด-19 สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย 90 % เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นหลักหมื่นรายต่อวันก็จริง แต่ 90% มีอาการน้อย ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการติดเชื้อเดลตาในจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเท่ากัน อัตราการป่วยหนักลดลง 7 เท่า ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 7 เท่า เสียชีวิตลดลง 10 เท่า ดังนั้นจึงมีการพิจารณาปรับจาก UCEP มาเป็นระบบการรักษาตามสิทธิ โดยหากอาการไม่มากก็จะเข้ารักษาใน Home Issolation (HI) และ Commutity Issolation (CI ) ส่วนยูเซปจะสำรองให้คนไข้วิกฤตฉุกเฉิน ไม่ใช่แค่โควิด แต่รวมทั้งหมด



          ดังนั้น  หากป่วยโควิดรักษาฟรี ตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากวันนี้ไปเข้ารพ.เอกชนที่หนึ่งและขอตรวจ โดยที่ไม่ได้มีอาการเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต เมื่อตรวจแล้วผลบวก จะขอรักษา รพ.เอกชน อันนี้ต้องจ่ายค่ารักษาเอง



          ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า การรักษาโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ารพ.ใหญ่ๆ โรงเรียนแพทย์ ทำให้รพ.เหล่านั้นไม่สามารถให้การรักษาโรคอื่นได้ เช่น ต้องชะลอการผ่าตัดโรคหัวใจ ทำให้เมื่อวันที่ 26 ม.ค.มีการประชุมคณะกรรมการเห็นชอบให้มีการปรับการรักษาโควิดจากฉุกเฉินมาเป็นการรักษาตามสิทธิ และเข้าสู่การพิจารณา EOC กระทรวงสาธารณสุขก็เห็นชอบเช่นกัน พร้อมหารือร่วมกัน 3 กองทุน คือกองทุนบัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการถึงแนวทางการดูแล ประเด็นสำคัญคือเป็นการรักษาฟรี



-ในส่วนของกองทุนสวัสดิการข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาได้ในรพ.ของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศฟรี กองทุนบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐ และสถานพยาบาลเครือข่ายทุกแห่งฟรี เช่น ผู้ป่วยที่มีสิทธิบัตรทองอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่มาทำงานที่ กทม. เมื่อติดโควิดก็สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเครือข่ายในกทม.



-ส่วนผู้ประกันตน ทางสำนักงานประกันสังคมจะมีการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ เพื่อหารือถึงการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากว่ามีสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน



          ส่วนผู้ป่วยต่างด้าวจะมีรพ.ตามสิทธิผ่านการซื้อประกันสุขภาพอยู่แล้ว กรณีแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่รพ. หรือสถานพยาบาลของรัฐได้



          สำหรับกรณีรักษาตัวใน HI สามารถโทรสายด่วน 1330 ได้ กรณีที่ไม่ได้ไปรักษาพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีหลักประกันอยู่ในรพ.รัฐ แต่ประสงค์เข้ารับการรักษารพ.นอกสิทธิ อย่างเช่นรพ.เอกชน ในส่วนนี้ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายเงินเอง อาจจะมีการคุยกับรพ.เอกชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอัตราค่ารักษาเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน



          ส่วนปัญหาบริษัทประกันสุขภาพ ไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาที่บ้าน (HOME ISOLATION : HI) นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ สบส. ทำหนังสือส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อยืนยันว่า ผู้ป่วยโควิดที่ดูแลตัวเองที่บ้านและที่ชุมชน จัดอยู่ในระบบการดูแลผู้ป่วยในของ รพ. ตามระบบที่กระทรวงสาธารณสุขวางเอาไว้ ยืนยันว่าการกักตัวที่บ้าน และการกักตัวในชุมชนระดับอำเภอ (Community Isolation : CI) เป็นหนึ่งในสถานพยาบาล จะอ้างเป็นเหตุไม่จ่ายค่าสินไหมไม่ได้



          กรณีรักษาอยู่ HI แล้วอาการรุนแรงขึ้นไม่ต้องกังวลใช่หรือไม่ ระบบจะจัดรพ.จัดเตียงให้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากการเข้ารับบริการ HI จะมีสถานพยาบาลเป็นพี่เลี้ยง บางแห่งเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น บางแห่งเป็นรพ. หากอาการบ่งชี้เริ่มมากขึ้นก็จะติดต่อและส่งต่อให้รพ.คู่ปฏิบัติการต่อไป นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเติมกรณีจากเดิมกลไกยูเซปเดิมอาจมีบางอย่างไม่ครอบคลุม เช่น ชุด PPE ชุดป้องกันโรค เครื่องช่วยหายใจบางชนิดที่ใช้กับคนไข้โควิด ทางสบส..จะจัดประชุมในการเพิ่มไอเทมต่างๆที่ไม่ครอบคลุม เพราะเป็นโรคใหม่ เพื่อให้คนไข้ที่เป็นโควิดแล้วเกิดฉุกเฉินวิกฤต ทางรพ.จะได้นำไปใช้เบิกจ่ายได้  ส่วนจะเริ่ม 1 มี.ค.2565 หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาจะเริ่มเมื่อไหร่ ทางกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณา



          สำหรับอาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤตหรือยูเซป ตามประกาศกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมี 6 อาการ คือ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669 เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย



#โควิด



#รักษาตามสิทธิ

ข่าวทั้งหมด

X