กรมชลฯ วางแผนรับมือน้ำเค็มรุกพื้นที่14-18 ก.พ.ลดผลกระทบการผลิตน้ำประปา

10 กุมภาพันธ์ 2565, 09:18น.


          การติดตามน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 14-18 ก.พ. 65 ดร.สมเกียรติ ประจำวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค พื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะลงพื้นที่ 9 ก.พ.65 ที่สถานีสูบน้ำดิบบางเลน จ.นครปฐม ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการประปานครหลวง เข้าร่วมประชุมและบรรยายสรุปการดำเนินงาน





          ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,741 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ  มีน้ำใช้การได้ 6,045 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำแล้วประมาณ 3,069 ล้าน ลบ.ม.  มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 4.08 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 45 (แผน 2.81 ล้านไร่)





         



 



        ในส่วนของ 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำแม่กลอง (เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 23,216 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9,939 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 771 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13 ของความจุอ่างฯรวมกัน กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ในลุ่มเจ้าพระยารวม 7,744 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง 5,700 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ช่วงต้นฤดูฝนอีก 3,044 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภค



         นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ และ 10 ทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมดำเนินการตามมาตรการรองรับการขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง  8 มาตรการ โดยเน้นย้ำสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำให้เกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย



         ด้านสถานการณ์ค่าความเค็ม ในแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ  แต่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 14-18 ก.พ. 65 ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายหลัก (แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา) ควบคู่กัน เพื่อควบคุมคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมดำเนินการตามมาตรกรควบคุมค่าความเค็ม ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก ให้สอดคล้องกับจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล โดยคำนึงถึงมาตรการประหยัดน้ำจากพื้นที่ตอนบน การผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านคลองจรเข้สามพันและคลองท่าสาร-บางปลา มายังแม่น้ำท่าจีน ก่อนจะผันเข้าคลองพระยาบันลือ และใช้สถานีสูบน้ำสิงหนาท 2 สูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาตามลำดับ เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา บริหารจัดการประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคตามรอบเวรที่กำหนด รวมทั้งขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตร งดสูบน้ำสำหรับการเพาะปลูก ตลอดจนวางแผนร่วมกับการประปานครหลวง เพิ่มชั่วโมงในการทำ Water Hammer Operation  และขอความร่วมมือสำนักการระบายน้ำ กทม. ให้ทำการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำลง  เพื่อผลักดันน้ำเค็มอีกทางหนึ่งด้วย



 



         ประธานในที่ประชุม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการงานร่วมกัน พร้อมวางแผนการจัดสรรน้ำให้ชัดเจน และไปในทิศทางเดียวกัน และแจ้งให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจังหวัดรับทราบ เพื่อให้สามารถประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบต่อไป



#กรมชลประทาน



#น้ำเค็มรุกพื้นที่



#สถานีสูบน้ำดิบบางเลน



#นครปฐม 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X