การยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในบทเฉพาะกาลของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นาย คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เปิดเผยว่า การยกร่างฯในวันนี้พิจารณาบทเฉพาะกาลไปแล้วกว่า 9 มาตรา คาดว่าบทเฉพาะกาลจะมีทั้งสิ้น 20 ม. โดยการยกร่างอิงตามหลักรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันนี้ได้พิจารณาในหลายประเด็น เช่น การกำหนดจุดสิ้นสุดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยในส่วนคสช. และครม. กรรมาธิการกำหนดให้ครม.และคสช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อมีครม.ชุดใหม่ขึ้นมา ส่วนสนช.จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีครบทั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมีการเปิดประชุมสภาครั้งแรก คาดว่าสนช.จะพ้นจากตำแหน่งราว 240 วันนับจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สาเหตุที่กำหนดวันไว้ที่ 240 วัน เนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯกำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จใน 90 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ดำเนินการสรรหาให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายใน 150 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เช่นกัน โดยคณะกรรมาธิการฯยังกำหนดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ต้องประกาศใช้เพื่อดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 60 วันนับแต่วันที่คณะกรรมาธิกาายกร่างฯเสนอให้พิจารณา จากนั้นจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก 30 วันรวมแล้วเป็นเวลา 240 วัน
นาย คำนูณ ระบุว่า หากสนช.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับเสร็จไม่ทัน 60 วันให้ถือว่าสนช.ให้ความเห็นชอบต่อร่างดังกล่าวแล้วและให้นำส่งศาลรัฐธรรมนูญและนายกรัฐมนตรีเพื่อนำร่างขึ้นทูลเกล้าทันที ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่เหลือราว 9 ฉบับให้สนช.ทยอยพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 120 วันนับจากวันที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯส่งให้พิจารณา นาย คำนูณ ยังระบุว่าจะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้สนช.ทันทีเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ คาดว่าในปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม 2558 ร่างรัฐธรรมนูญถึงจะประกาศใช้ ส่วนหากมีการทำประชามติก็จะทำให้เวลาการประกาศใช้รัฐธรรมนูญล่าช้าออกไปด้วยอีกอย่างน้อย 90 วัน ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลยังบัญญัติให้มีการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
ส่วนการพิจารณาการตัดสิทธิการเมืองแม่น้ำ 5 สายที่ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฎิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 2 ปี ในวันนี้ที่นาย เจษฎ์ โทณะวณิก เป็นผู้เสนอนั้นมีแค่การหารือเบื้องต้น พรุ่งนี้จะลงรายละเอีดยเชิงลึก พร้อมกับการพิจารณาจุดสิ้นสุดของคณะกรรมาธิการยกร่าง และสปช. โดยพรุ่งนี้จะเป็นการประชุมลับ เพราะมีวาระละเอียดอ่อนหลายประเด็นที่ค้างการพิจารณา พร้อมระบุว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะมีทั้งสิ้น 315 มาตรา ส่วนการประชุมสนช.ในวันนี้ ที่ประชุมมีมติในวาระที่ 1 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ พ.ศ. ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 5 เสียงและตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 15 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 30 วันด้วย