ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat อธิบายเรื่อง หินภูเขาไฟ ที่ลอยเข้ามาบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส) พบอยู่ตามหาดทรายบางแห่งว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นหินมีรูพรุน สีเทา น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ขนาด 0.3-3 เซนติเมตร น่าจะเป็นหินพัมมิช (Pumice) หรือหินภูเขาไฟ
คำถามน่าสนใจ มาจากไหน ? เพราะในอ่าวไทยไม่มีภูเขาไฟ เมื่อลองเช็คข้อมูลการระเบิดทั่วโลกในช่วงผ่านมา อาจเป็นไปได้ว่ามาจากอินโดนีเซียที่มีการระเบิดหลายแห่งในช่วงมกราคม/ต้นเดือนกุมภาพันธ์
หินแบบนี้ลอยน้ำได้ไกล และลอยรวมอยู่เป็นแพ เมื่อลมจากทะเลจีนใต้พัดเข้าหาฝั่ง จึงเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหินลอยอยู่บนผิวน้ำ และไม่ได้แตกตัวละลายลงไปในน้ำ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับสัตว์น้ำในทะเลหรือตามพื้นท้องทะเล
เมื่อหินมากองบนฝั่ง อาจมีผลต่อสัตว์ขนาดเล็กบนชายหาดบ้าง แต่คงไม่มากเท่าไหร่
สำหรับกิจกรรมผู้คนชายฝั่ง เช่น ประมง เดินเรือ คงไม่ได้รับผลกระทบมากมาย เพราะไม่ได้มีเต็มทะเล นำมาให้เพื่อนธรณ์ดูเพราะนานๆ มาสักครั้ง ไม่ต้องตระหนกตกใจ ไม่ได้เป็นสัญญานบอกเหตุใดๆ เพราะภูเขาไฟระเบิดไปนานแล้วหินถึงลอยมาถึงบ้านเรา อ่าวไทยไม่มีภูเขาไฟ ใกล้สุดต้องไปทางอินโดนีเซีย หากเกิดอะไรขึ้น คลื่นสึนามิใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะมาถึงบ้านเรา และคงมีขนาดไม่ใหญ่นัก
ขณะที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุรายละเอียด
-จากข้อมูลของศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เชื่อว่า กรวดภูเขาไฟที่พบน่าจะมาจากการประทุของภูเขาไฟ “อานัก กรากาตัว” ที่อยู่ระหว่างตอนใต้ของเกาะสุมาตราและตอนเหนือของเกาะชวา ทางตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ที่เกิดการปะทุเมื่อปี 2561 มากกว่าจะที่เป็นกรวดภูเขาไฟที่ปะทุจากเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้น้ำตองกา ในประเทศตองกา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.65
-ส่วนผลการวิเคราะห์ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ พบว่าภูเขาไฟ “อานัก กรากาตัว” ในประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากประเทศไทยประมาณ 2,490 กม. ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้มาก โดยเฉพาะพื้นที่ชายหาดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สอดคล้องกับหลังเกิดการปะทุพบว่ามีเศษเถ้าและกรวดลอยน้ำเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเถ้าและกรวดบางส่วนที่มีน้ำหนักจะจมลงใต้ทะเล ส่วนที่มีน้ำหนักเบาก็จะลอยไปตามกระแสน้ำ อีกทั้งเมื่อคำนวณระยะเวลาของการปะทุกว่า 3 ปี ก็มีความเป็นไปได้สูงที่กรวดภูเขาไฟจะลอยน้ำมาถึงภาคใต้ของไทยได้
-ขณะที่ภูเขาไฟตองกา อยู่ห่างจากประเทศไทยประมาณ 10,014 กม. ด้วยระยะเวลาเพียง 1 เดือน อีกทั้งยังมีหมู่เกาะต่างๆ ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ขวางกั้นอยู่ การที่เศษกรวดภูเขาไฟจากตองกาจะลอยมาถึงประเทศไทย จึงเป็นไปได้ยาก
-กรวดภูเขาไฟที่ถูกพัดขึ้นมากองตลอดแนวชายหาดนี้ จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศชายฝั่งมากกว่าที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากร เนื่องจากกรวดเหล่านี้ประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศทะเล
#หินภูเขาไฟ
CR:Thon Thamrongnawasawat , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง