นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านการระดมเงินทุนสนับสนุนกิจการสาธารณสุขทั่วโลก (global ambassador for health financing)ขององค์การอนามัยโลก(WHO)เปิดเผยว่า โครงการระดมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อชุดตรวจโรคโควิด-19 อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลหรือ PPE สำหรับบุคลากรการแพทย์ พร้อมยาต้านไวรัสและวัคซีนเพื่อส่งมอบให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลางทั่วโลก ในชื่อโครงการแอ็คเซส ทู โควิด-19 ทูลส์ แอ็คเซลเลเรเตอร์(Access to COVID-19 Tools Accelerator (ACT-A)ของ WHO เดินหน้าอย่างยากลำบาก เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณจำนวนมาก
นายบราวน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการได้รับเงินบริจาคเพียง 814 ล้านดอลลาร์ นับว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายยอดเงินบริจาคที่ตั้งไว้สำหรับปีนี้ คือ 14,500 ล้านดอลลาร์ ระบุว่า จึงถึงเวลาแล้วที่จะปลุกสำนึกของคนทั่วโลกให้กลับมาให้ความสำคัญและร่วมบริจาคเงินสมทบทุน เพื่อให้โครงการนี้สามารถเดินหน้าต่อไป พร้อมทั้งเสนอแนะให้ประเทศต่างๆร่วมบริจาคเงินสมทบเข้าโครงการนี้อย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากขนาดของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ในลักษณะเดียวกับการร่วมบริจาคเงินสนับสนุนภารกิจของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)
ด้านนพ.บรูซ เอลวาร์ด ผู้ประสานงานของโครงการนี้ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนงบประมาณทำให้โครงการ ACT-A ไม่สามารถทำตามเป้าหมายคือการส่งมอบวัคซีนรวม 2,000 ล้านโดสสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำทั่วโลกในปีที่แล้ว ส่งผลให้เพียงร้อยละ 10 ของประชากรในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำได้รับวัคซีนเข็มแรก เทียบกับอัตราเฉลี่ยสำหรับประเทศที่มีฐานะร่ำรวยคือ ร้อยละ 68
ก่อนหน้านี้ โครงการ ACT-A ตั้งเป้างบประมาณรวมทั้งสิ้น 23,400 ล้านดอลลาร์ จากเดือนตุลาคมปีที่แล้วจนถึงเดือนกันยายนปีนี้ ในจำนวนนี้ เงินทุนจำนวน 16,800 ล้านดอลลาร์จะเป็นเงินสมทบในลักษณะเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกลุ่มประเทศที่มีฐานะร่ำรวย นอกจาก WHO แล้ว องค์กรเอกชนหลายองค์กรที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ เช่น กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) เดอะ โกลบอล ฟันด์ (The Global Fund) และมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation)
#WHO
#โครงการช่วยเหลือประเทศยากจน
#บริจาคชุดตรวจและวัคซีน