ความคืบหน้าในการทำงานของสภาปฎิรูปแห่งชาติและการร่างรัฐธรรมนูญ นาย เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เปิดเผยว่า สปช.มีหน้าที่รับผิดชอบในสองประเด็นหลัก คือการให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการส่งร่างแรกฉบับเต็มในวันที่ 17 เมษายน 2558 โดยจะเริ่มพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 20-26 เมษายน และจะขอความร่วมมือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจให้งดการประชุมในช่วงดังกล่าว โดยจะเปิดให้สมาชิกอภิปรายร่างได้เต็มที่ และจะไม่ปล่อยร่างออกไปแน่นอนหากพบว่ามีข้อตำหนิต่อประชาชน ยืนยันว่าไม่มีการตั้งธงล่วงหน้าว่าสปช.จะต้องเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การทำงานของแม่น้ำสายอื่นๆไม่สะดุด
หลังจากสมาชิกสปช.ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 เมษายนแล้ว สมาชิกแต่ละบุคคลยังสามารถส่งญัตติข้อแก้ไขไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้เพิ่มอีกเป็นเวลา 30 วัน ส่วนประเด็นการปฎิรูป 36 เรื่องของสปช. และการพัฒนาใน 7 วาระ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สปช.ต้องดูแล ภายในวันจันทร์นี้คณะทำงานที่วิเคราะห์ประเด็น 36 เรื่องตามที่คณะกรรมการปฎิรูป18 ด้านส่งมา จะต้องวิเคราะห์และจัดทำแผนการปฎิรูปให้แล้วเสร็จทั้งหมด เพื่อส่งกลับมายังสปช.พิจารณาต่อไป โดยประเด็นใดที่สามารถทำได้จะเริ่มดำเนินการทันที แต่ยอมรับว่ามีหลายประเด็นที่ต้องใช้เวลาการปฎิรูปเป็นเวลานาน แต่แนวทางการปฎิรูปใน 36 ด้านจะต้องมีความชัดเจนในวันที่ 10 เมษายน 2558นี้ ทั้งนี้การประชุมสปช.ในวันจันทร์นี้จะมีวาระการพิจารณาเรื่องการปฎิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ด้วย
ส่วนการประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ครม. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. สภาปฎิรูปแห่งชาติ สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นอีกครั้งวันที่ 11 มีนาคม สปช.จะเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมในครั้งนี้มีแนวคิดที้จะเสนอวาระวิสัยทัศน์ประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางการปฎิรูป รวมทั้งอาจจะเสนอให้มีการจัดประชุมเฉพาะระดับประธานของแม่น้ำทั้ง 5 สาย เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ส่วนการตั้งเครือญาติมาทำงานนั้น หากผู้ที่เข้ามามีคุณสมบัติเหมาะสมและทำงานจริง.ส่วนตัวก๋เห็นว่าไม่มีปัญหา และน่าจะเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันของสปช.ด้วย แต่หากไม่มีคุณสมบัติหรือไม่ได้เข้ามาทำงานก็คงไม่เหมาะสม ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล. อย่างไรก็ดีส่วนตัวเห็นด้วยกับมติของวิปสนช.ที่ควรเปลี่ยนแปลงตัวผู้ช่วย
ขณะที่ข้อเสนอการตัดสิทธิ์ทางการเมือง 2 ปีแม่น้ำ 5 สายของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนตัวมองว่าอยู่ที่ความคิดของแต่ละคน และสปช.เป็นผู้สมัครใจเข้ามาทำงานเอง ต่างกับสนช.ที่ถูกคัดจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้เข้ามา อย่างไรก็ดีการจะตัดสิทธิ์หรือไม่นั้นก็ต้องมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซี่งเมื่อถึงขณะที่สปช.พิจารณาความเห็นชอบต่อร่างแล้วคงจะรู้ว่าสปช.จะเห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์หรือไม่ ส่วนการทำประชามติ ยังไม่ถึงเวลาตอบ เพราะยังไม่เห็นร่างทั้งฉบับ ทั้งนี้เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ปัญหาประเทศได้และสปช.จะพิจารณาอย่างรอบแน่นอน
ด้านการปฎิรูปกิจการ ศาสนา นาย เทียนฉาย ระบุว่า เป็นเรื่องที่สื่อดึงสปช.เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยสปช.มีหน้าที่ปฎิรูปจัดการเฉพาะพฤติกรรมของฆราวาสที่ไปยุ่งเกี่ยวกับศาสนาและผู้ที่ถือบาตรเรี่ยไรริมถนน โดยอาจจะเสนอให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีหรือตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคล ส่วนกิจการภายในศาสนาและพระธรรมวินัยต้องให้สงฆ์เป็นผู้จัดการกันเอง สปช.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้