*สปช.นัดลงมติปมอดีต38 ส.ว.แก้ที่มารัฐธรรมนูญ 13 มี.ค.หลังตอบข้อซักถามคณะกรรมาธิการ*

05 มีนาคม 2558, 14:59น.


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ซักถามคู่กรณีระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  และกลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 38 คน  คณะกมธ. ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธาน เริ่มซักถามฝ่ายป.ป.ช.ที่มีสมาชิกสนช.ยื่นญัตติซักถามจำนวน 13 คำถามก่อน โดยคำถามแรก พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม ได้เป็นผู้ยื่นคำถามถามป.ช.ช.ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกบังคับใช้จากเหตุรัฐประหารไปแล้ว แต่ทำไมป.ป.ช.ยังคงมติเสนอเรื่องถอดถอนมายังสนช.ได้ ทั้งที่ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาก็ควรยกเลิกไปแล้วตามรัฐธรรมนูญ โดยนาย วิชัย วิวิตเสวี ตัวแทนป.ป.ช. ระบุว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2557 ซี่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่ถูกยกเลิก รวมทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกอบกับข้อบังคับการประชุมสนช.ก็มีข้อบังคับให้ดำเนินการถอดถอนได้ ทั้งนี้นายวิชัย ระบุว่า ส่วนตัวมองว่ากลุ่มอดีต 38 สว.ไม่มีความผิดแล้ว แต่เมื่อคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมากให้ดำเนินการถอดถอนและส่งเรื่องมาที่สนช.แล้ว ส่วนตัวก็ต้องปล่อยให้เป็นดุลยพินิจสนช.ว่าจะถอดถอนหรือไม่ต่อไป นอกจากนี้คณะกมธ.ซักถามยังได้ถามป.ป.ช.ต่อว่า กรณีนางสาว สุภา ปิยจิตติ กรรมการป.ป.ช.ที่มีลายมือชื่อชี้มูลความผิดต่อกลุ่มอดีต 38 สว. แต่จากหลักฐานพบว่านางสาวสุภาเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ หลังการชี้มูลความผิด ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายและเป็นเท็จจริงหรือไม่ โดยนายวิชัย ตอบในฐานะตัวแทนป.ป.ช.ว่า การลงมติให้ชี้มูลความผิด 3 ครั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 15 พฤษภาคม  และ 13 พฤศจิกายน 2557 โดยนางสาว สุภา เข้ารับตำแหน่งกรรมการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯและได้ร่วมลงมติครั้งที่ 3 คือวันที่ 13 พฤศจิกายน แต่เจ้าหน้าที่บันทึกเอกสารได้ไม่แก้วันที่ จึงทำให้ผลออกมาเป็นรูปแบบดังกล่าว จากนั้นคณะกมธ.ซักถามยังได้ถามต่อว่า สิ่งที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้สนช.พิจารณา มีความผิดฐานใดและพฤติกรรมใดบ้าง นายวิชัย ระบุว่า มีความผิดข้อหาเดียวคือ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ม. 291 ที่ดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขโดยไม่ได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่นำเสนอ แต่มีการเปลี่ยนแปลงร่างอื่นภายหลัง ซี่งแสดงถึงความไม่โปร่งใสและกลุ่มอดีต 38 สว.บางส่วนยังร่วมลงมติรับร่างดังกล่าวตั้งแต่วาระที่ 1-3 ด้วย



หลังจากที่ซักถามฝ่ายป.ป.ช.เสร็จแล้ว คณะกมธ.ซักถาม ได้ซักถามอดีต 38 ส.ว. จำนวน  6  คำถาม โดยคณะกรรมาธิการซักถาม สนช. ได้ถามว่า ทราบหรือไม่ว่าร่างดังกล่าวที่ยื่นเป็นร่างเอกสารปลอม และไม่ใช่ร่างแรกที่ยื่นเสนอมาแต่ต้น นายวิทยา อินาลา ตัวแทนของกลุ่ม 38 ส.ว. ระบุว่า ทำตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2553 ข้อ 36 ตามแนวทางการปฎิบัติของกระบวนการนิติบัญญัติ จากนั้นคณะกมธ.ซักถามได้ถามว่า การแก้ไขที่มาของส.ว.ให้มีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ เพื่อให้ได้รับฐานเสียงสนับสนุน พร้อมทั้งถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดผลประโยชน์และผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ นายดิเรก ถึงฝั่ง ตัวแทนกลุ่ม38 สว. ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดผลประโยชน์ผู้ใด และเป็นไปโดยชอบธรรมตามหน้าที่ของรัฐสภา พร้อมระบุว่าการแก้ไขที่มาของส.ว. ไม่ได้มีเจตนาทำเพื่อตัวเอง จากนั้นคณะกมธ.ซักถามได้ถามว่า ตามมาตรา 117 วรรค2 ที่กำหนดให้ส.ว.ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 6 ปี แต่ติดกันเกิน 1 วาระไม่ได้ เมื่อมีการแก้ที่มาของส.ว.แล้วจะทำให้ 38 ส.ว. สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ นายวิทยา ระบุว่า ช่วงที่มีการแก้ไขร่างอยู่นั้น กลุ่มได้ประกาศแล้วว่าจะไม่มีการลงสมัครส.ว.อีกแน่นอน ทั้งนี้หลังการซักถามกลุ่มอดีต 38 ส.ว. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุม ได้ขอมติจากที่ประชุมให้เห็นชอบกำหนดวันแถลงปิดคดีของคู่กรณีในวันพุธที่ 11 มีนาคม ก่อนที่จะลงมติถอดถอนหรือไม่ในวันที่ 13 มีนาคม 2558 โดยการถอดถอนจะต้องมีเสียงอย่างน้อย 3 ใน 5 จากสมาชิกทั้งหมด หรือ 132 เสียงจึงจะดำเนินการถอดถอนได้



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X